Feeds:
Posts
Comments

Posts Tagged ‘โรงงาน’

การออกไปสำรวจเส้นทางแต่ละครั้งมักจะได้อะไรใหม่ๆ ที่ไม่คาดคิดเสมอ เรื่องที่ติดค้างไว้วันก่อนเป็นเรื่องของคนคนหนึ่งที่ผมมีโอกาสเข้าไปรับรู้ระหว่างการสำรวจเส้นทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ในตัวเมืองนครราชสีมา

พื้นที่แถบโคราชเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกมันสำปะหลังกันมาก หลังจากย้ายถิ่นฐานมาอยู่โคราชเป็นเวลานาน คุณทศพล ตันติวงษ์ เริ่มเล็งเห็นศักยภาพของธุรกิจเกี่ยวกับมันสำปะหลัง ก็เลยไปกู้เงินมาลงทุนทำโรงงานแปรรูปมันสำปะหลังไปพร้อมๆ กับอาศัยพื้นความรู้เกี่ยวกับเครื่องจักรกลเล็กๆ น้อยๆ และเรียนรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับการทำแป้งมันโดยเริ่มจากศูนย์ โรงงานสงวนวงษ์จึงถือกำเนิดขึ้นบนพื้นที่ 50 ไร่จากน้ำพักน้ำแรง จากสองมือเปล่าและความเชื่อมั่นในตัวเองล้วนๆ ว่าจะต้องทำได้
เรื่องทำนองนี้ไม่ได้เป็นเรื่องที่พิเศษสำหรับผม เราคงได้ยินเรื่องราวการต่อสู้ของคนที่ประสบความสำเร็จไม่รู้กี่คนต่อกี่คน แต่มันเป็นวิสัยทัศน์ทางด้านธุรกิจและสังคมของชายคนนี้ที่น่าสนใจมากๆ

โคราชเป็นตลาดใหญ่ของมันสำปะหลัง โรงงานมันสำปะหลังในโคราชปัจจุบันมีอยู่ 20 กว่าโรง โรงงานสงวนวงษ์เป็นโรงงานที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัด มีเกษตรกรนำมันสำปะหลังมาขายวันละ 3,000 – 4,000 ตัน ซึ่งนำไปผลิตเป็นแป้งมันได้วันละ 1,000 ตัน เดิมทีโรงงานผลิตได้ไม่มากเท่านี้ และต้องจ่ายค่าขนส่งให้เกษตรกรจากพื้นที่ไกลๆ ในราคาที่สูงกว่าโรงงานรอบนอกเพื่อจูงใจให้เกษตรกรยอมขนมันเข้ามาขายถึงในโคราช

เกษตรกรในพื้นที่มีปัญหาเรื่องที่ทำกินเหมือนๆ กับทุกๆ ที่ในเมืองไทย เมื่อมีพื้นที่อยู่จำกัด ผลิตผลและรายได้ก็เลยถูกจำกัดไปตามนั้น ในความพยายามที่จะเพิ่มประสิทธิภาพของจุดเริ่มต้นของซัพพลายเชน คุณทศพลกลับมองอีกด้านหนึ่ง แทนที่จะเพิ่มผลผลิตจากการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูก คุณทศพลหันไปปรึกษากับนักวิชาการของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (ซึ่งคุณทศพลเป็นหนึ่งในกรรมการสภามหาวิทยาลัย) เพื่อทดลองทำปุ๋ยชีวภาพ นำเอาหินฝุ่นที่เป็นวัสดุในพื้นที่อำเภอปากช่องมาปรับสภาพดิน ช่วยเพิ่มผลผลิตต่อไร่จากเดิม 3 ตันต่อไร่ เป็น 27 ตันต่อไร่ นอกจากนั้นมันสำปะหลังที่นำเข้าจากบราซิลที่เคยมีปัญหาอ่อนแอขี้โรคกลับมีภูมิต้านทานเพลี้ยแป้งมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เทคโนโลยีเหล่านี้คุณทศพลจัดอบรมให้เกษตรกรฟรีๆ โดยไม่มีข้อแม้ว่าจะต้องเอามันมาขายให้ คุณทศพลบอกว่า ก็เทคโนโลยีนี้ได้มาโดยไม่เสียอะไร เป็นโครงการวิจัยของมหาวิทยาลัยที่บังเอิญว่าเขาไม่มีที่ดิน เราเองมีที่ดินแต่ไม่มีเทคโนโลยี ก็เลยเป็นเรื่อง วิน-วิน ของทั้งสองฝ่าย
ไม่ต้องสงสัยหรอกว่าซื้อใจกันขนาดนี้แล้ว เกษตรกรจะเอามันไปขายที่โรงงานไหน

โรงงานกับน้ำเสียเป็นของคู่กัน โดยทฤษฎีแล้วโรงงานก็ต้องมีบ่อทำการบำบัดน้ำเสียก่อนจะปล่อยทิ้งลงสู่ลำน้ำธรรมชาติ แต่ที่นี่เล็งเห็นโอกาสที่จะแปลงน้ำเสียให้เป็นไปได้มากกว่าน้ำดี เขาเลยขอสัมปทานตั้งบริษัท Korat Wast to Energy (KWTE) ขึ้นมา ใช้พลังงานจากปฏิกิริยาของสารจุลินทรีย์ผลิตกระแสไฟฟ้านำกลับมาใช้ภายในโรงงานแทนพลังงานไฟฟ้าจากน้ำมัน ประหยัดไปปีนึงไม่ใช่น้อยๆ
คนงานในโรงงานอยู่ด้วยกันในนิคมบ้านพักภายในเขตโรงงาน มีการตั้งโรงเรียนให้ลูกหลานคนงานเรียนหนังสือ มีสนามกีฬาและพื้นที่สันทนาการ ในภาพรวมโรงงานสงวนวงษ์ดูเหมือนนิคมอุตสาหกรรมขนาดย่อมๆ

สงวนวงษ์

ธุรกิจแป้งมันทุกวันนี้ไม่ได้มุ่งผลิตขึ้นมาเพื่อการบริโภค ปัจจุบัน 85 – 90 % เป็นธุรกิจเพื่อการส่งออกและใช้ในอุตสาหกรรมแป้งมันนอกจากที่เรารู้จักว่ามีไว้ทำอาหารแล้ว ยังนำไปใช้ในอุตสาหกรรมผลิตกระดาษ ไม้อัด สิ่งทอ ยาเม็ด ผงชูรส เอธานอล และอื่นๆ อีกมากมาย

กากมันที่นำมาทำเอธานอล แปรรูปเพื่อใช้ผลิตไฟฟ้า และผลิตไบโอแก๊ส NGV ยังมีราคาตกต่ำและยังไม่คุ้มต้นทุน แต่วันหนึ่งเมื่อราคาพลังงานถีบตัวสูงขึ้นอย่างถาวร ผู้ชนะในเวทีพลังงานทางเลือกก็คือผู้ที่เตรียมทุกอย่างพร้อมตั้งแต่วันนี้

ปัจจุบันมีผู้ปลูกแป้งมันที่เติบโตขึ้นมาแข่งขันจากทั้งกัมพูชา ลาว และพม่า และส่งเข้ามาขายในเมืองไทยเพื่อแปรรูป แต่สักวันกลุ่มประเทศเหล่านี้จะเริ่มผลิตแป้งมันได้เองในราคาที่ถูกกว่า ด้วยเหตุนี้ธุรกิจโรงงานแป้งมันจึงไม่สามารถอยู่นิ่งได้ แทนที่จะแข่งขันกันด้านราคา คุณทศพลเตรียมแผนรองรับไว้โดยการผลิตสินค้าอื่นๆ จากแป้งมัน โดยการร่วมทุนกับต่างประเทศ ขอความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีและช่วยให้เปิดตลาดให้


เรื่องของนักธุรกิจอาจจะไม่ใช่เรื่องที่มีไอดินกลิ่นโคลนมากนัก แต่ผมว่าแต่ละคนก็สามารถมีบทบาทที่แตกต่างในการพัฒนาท้องถิ่นของตัวเองได้อย่างน่าประทับใจไม่แพ้กัน

Read Full Post »