Feeds:
Posts
Comments

Posts Tagged ‘ทฤษฎี’

อสงไขย

การนับโดยทั่วไปเราจะนับเรียงตามลำดับตัวเลข เช่น 1,2,3, …. เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ เรียกว่านับเป็นตัวเลขสังขยา คือ ตัวเลขที่นับได้
แต่ถ้าหากมีจำนวนมากๆ จนเกินจะนับไหว จึงมีการมานับโดยการอุปมา คือการเปรียบเทียบเอา
แล้วตัวเลขแค่ไหนล่ะที่นับไม่ได้ เราจะนับกันสูงสุดแค่ไหน สมัยโบราณเขากำหนดว่าตัวเลขที่มากจนนับไม่ถ้วนแล้ว คือจำนวน 1 ตามด้วย 0 อีก 140 ตัว (10 ยกกำลัง 140) นั่นคือถ้าเกินไปกว่านี้ถือว่านับไม่ถ้วน เรียกว่าเป็นจำนวน อสังขยา หรือ อสงไขย นั่นเอง

สรุป อสงไขย คือ หน่วยวัด(เวลา) ที่ใช้แทนจำนวนที่มากกว่า 10 ยกกำลัง 140

กัป

กัป คือ หน่วยวัดเวลา โดยอ้างอิงจากพระไตรปิฎกดังนี้

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ – หน้าที่ 514
๕.  ปัพพตสูตร  ว่าด้วยเรื่องกัป

      [๔๒๙]  พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่  ณ พระเชตวัน   อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี  กรุงสาวัตถี ณ ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว  ฯ ล ฯ  เมื่อภิกษุรูปนั้นนั่งเรียบร้อยแล้ว  ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ   กัปหนึ่งนานเพียงไรหนอแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ กัปหนึ่งนานแลมิใช่ง่ายที่จะนับกัปนั้นว่า เท่านี้ปี เท่านี้  ๑๐๐  ปี เท่านี้  ๑,๐๐๐  ปี  หรือว่าเท่านี้ ๑๐๐,๐๐๐  ปี.
ภิ.  ก็พระองค์อาจจะอุปมาได้ไหม  พระเจ้าข้า  
     [๔๓๐]   พ. อาจอุปมาได้  ภิกษุ แล้วจึงตรัสต่อไปว่า  ดูก่อนภิกษุเหมือนอย่างว่า  ภูเขาหินลูกใหญ่ยาวโยชน์หนึ่ง  กว้างโยชน์หนึ่ง  สูงโยชน์หนึ่ง ไม่มีช่อง ไม่มีโพรง เป็นแท่งทึบ บุรุษพึงเอาผ้าแคว้นกาสีมาแล้วปัดภูเขานั้น  ๑๐๐  ปีต่อครั้น ภูเขาหินลูกใหญ่นั้น พึงถึงการหมดไป สิ้นไป  เพราะความพยายามนี้ ยังเร็วกว่าแล ส่วนกัปหนึ่งยังไม่ถึงการหมดไป สิ้นไป กัปนานอย่างนี้แล
บรรดากัปที่นานอย่างนี้ พวกเธอท่องเที่ยวไปแล้ว มิใช่หนึ่งกัป มิใช่ร้อยกัป มิใช่พันกัป มิใช่แสนกัป. 
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าสงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้น เบื้องปลายไม่ได้ ฯ ล ฯ 
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็เหตุเพียงเท่านี้ พอทีเดียวที่จะเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง พอเพื่อจะคลายกำหนัด พอเพื่อจะหลุดพ้น ดังนี้.  

จบปัพพตสูตรที่  ๕

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ – หน้าที่ 516
 ๖.  สาสปสูตร  ว่าด้วยเรื่องกัป

       [๔๓๑]  พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่  ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี  กรุงสาวัตถี.  ณ  ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ฯลฯ   ครั้นภิกษุนั้นนั่งเรียบร้อยแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  กัปหนึ่งนานเพียงไรหนอแล.
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ กัปหนึ่งนานแล มิใช่ง่ายที่จะนับกัปนั้นว่า เท่านี้ปี   ฯ ล ฯ  หรือว่าเท่านี้  ๑๐๐,๐๐๐  ปี.
ภิ.  ก็พระองค์อาจจะอุปมาได้ไหม  พระเจ้าข้า.

     [๔๓๒]   พ.  อาจอุปมาได้ ภิกษุ แล้วจึงตรัสต่อไปว่า ดูก่อนภิกษุ เหมือนอย่างว่า นครที่ทำด้วยเหล็ก  ยาว ๑ โยชน์ กว้าง ๑ โยชน์ สูง ๑ โยชน์  ต็มด้วยเมล็ดพันธุ์ผักกาด  มีเมล็ดพันธุ์ผักกาดรวมกันเป็นกลุ่มก้อน  บุรุษพึงหยิบเอาเมล็ดพันธุ์ผักกาดเมล็ดหนึ่ง ๆ ออกจากนครนั้นโดยล่วงไปหนึ่งร้อยปีต่อหนึ่งเมล็ด เมล็ดพันธุ์ผักกาดกองใหญ่นั้นพึงถึงความสิ้นไป หมดไป เพราะความพยายามนี้ ยังเร็วกว่าแล ส่วนกัปหนึ่งยังไม่ถึงความสิ้นไป หมดไป กัปนานอย่างนี้แล
บรรดากัปที่นานอย่างนี้ พวกเธอท่องเที่ยวไปแล้วมิใช่หนึ่งกัป มิใช่ร้อยกัป มิใช่ร้อยพันกัป มิใช่แสนกัป  
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าสงสารกำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ ฯลฯ  พอเพื่อจะหลุดพ้น ดังนี้.

จบสาสปสูตรที่  ๖

จากนิยามดังกล่าว ลองคำนวณเป็นปี ดังนี้

1 โยชน์ = 16 กิโลเมตร (โดยประมาณ)

ประมาณว่าเมล็ดผักกาด มีขนาด .5 มิลลิเมตร
1 กม. = 10 x 100 x 1000 = 1,000,000 ม.ม.
ระยะทาง 1 ก.ม. ใช้เมล็ดผักกาดเรียงต่อกัน = (1,000,000)/0.5 = 2,000,000 เมล็ด 

ระยะทาง 1 โยชน์ หรือ 16 ก.ม. ใช้เมล็ดผักกาดเรียงกัน = 16 X 2,000,000 = 32,000,000 เมล็ด

ดังนั้น ถ้าเป็นปริมาตร กว้าง 1 โยขน์ x ยาว 1 โยชน์ x สูง 1 โยชน์ 
ต้องใช้เมล็ดผักกาดทั้งหมด = 32,000,000 x 32,000,000 X 32,000,000 = 32,768,000,000,000,000,000,000 เมล็ด
ใน 100 ปี หยิบเมล็ดผักออก 1 เมล็ด ดังนั้นต้องใช้เวลาทั้งหมด = 32,768,000,000,000,000,000,000 x 100
= 3,276,800,000,000,000,000,000,000 ปี

นั่นคือ เวลา 1 กัป ประมาณมากกว่า  3,276,800,000,000,000,000,000,000 ปี

Read Full Post »