Feeds:
Posts
Comments

Posts Tagged ‘สังคม’

เมื่อวันก่อนได้ตะลอนผ่านท้องทุ่งศาลายา  พ้นทุ่งข้าวเขียวงามพบเรือกสวนไร่อีกไม่น้อย  พลันหวนนึกถึงพรรคพวก  นึกถึงกีตาร์เสียงดิบๆ  เสียงร้องเพรียกหาของเพื่อนเสียงดีจริงใจ  ยิ่งเห็นศาลาไม้ข้างทางข้างคลองยิ่งรับรู้ถึงบรรยากาศเก่าๆ  บนอารมณ์เดิมๆ….ใช่…. ชีวิตกำลังเดินทาง….

“ลองชิมสิ  พี่ทำเองนะ”

เกือบยี่สิบปีที่แล้ว  หนึ่งในเพื่อนฝาแฝดลงมือทำ “บลูเบอร์รี่ชีสต์พาย” เมนูยอดฮิตสำหรับการเริ่มต้นในวันที่คำว่าเบเกอร์รี่เคลื่อนตัวเข้ามา

ในพื้นที่โรงอาหารของเรา  มีน้องๆได้แบ่งปันกันไป  นอกเหนือจากเพื่อนๆไม่กี่คนที่ร่วมสถาณการณ์

“เป็นไง  อร่อยมั้ย” เจ้าของงานพึงอยากได้คำตอบ

มันเป็นเรื่องยากอยู่ในการลิ้มชิมอาหารที่เพื่อนทำ  แล้วให้ตอบทางใดทางหนึ่ง  ความชอบของเรากับคำว่าอร่อยจะตีกันสับสน  จริงใจ…เอาใจ

ใครๆเกือบล้านเปอร์เซ็นต์มักจะตอบอย่างเอาใจทั้งนั้น  โถ…ก็เขาอุตส่าห์ทำมาแล้วนิ

บนพื้นที่ที่อบอวลด้วยความเกรงใจ  พลันเกิดประโยคจริงใจสุดชีวิต

“พี่…  มันต้องเป็นยังไงอ่ะพี่  ผมไม่เคยกินอะไรอย่างเงี้ยพี่  รสชาติจริงๆมันต้องเป็นยังไงล่ะพี่  ผมไม่รู้…”

เสียงคำถามตอบกลับจากน้องคนหนึ่ง  คนเดียวกับที่เป็นหัวหน้าค่ายในรุ่นของมัน

และที่สำคัญเราเองก็ตอบคำถามมันไม่ได้เช่นกัน

จากวันนั้นถึงวันนี้  เกือบยี่สิบปี  ใครๆก็ยัง “บลูเบอร์รี่ชีสต์พาย”

ล่าสุดที่โรงเรียนที่ผมสอนก็อย่างนี้แหละ  ยังคงเลือกเมนูนี้มานำเสนอกันอยู่  ไอ้ในใจก็แอบคิดอยู่ว่า ( คิดมานานเต็มทน )  จะมีวันที่ใครโชว์ฝีมือ  ขนมเปียกปูน  ทองหยอด  ฝอยทอง ฯลฯ กันบ้างไหมหนอ

ไม่นานมานี้ได้ทักทายเพื่อนเก่าใน face book เพื่อนเล่าว่าตอนนี้รับออร์เดอร์ทำ ขนมกลีบลำดวน  มัสมั่น ฯลฯ อยู่   (จำได้ชัดๆสองอย่าง  แต่ก็อยู่ในสายนี้แหละ)  ไม่มีหน้าร้านด้วย และก็อยู่ได้ด้วยดี  เหนื่อยตามสภาพ   ผมได้แต่บอกเพื่อนว่า  “แก….เจ๋งว่ะ” คิดอยู่ว่าต้องหาโอกาสอุดหนุน

จากเรื่องราวเบื้องต้นทำให้….

นึกถึงเรื่องบอกกล่าวจากเพื่อนทำงานซาวด์  คร่ำหวอดมากว่าสิบปี  ได้ใกล้ชิดคนมิกซ์เสียงระดับแนวหน้าของบ้านเราคนนึง (แต่เป็นต่างชาติ)   ก่อนเขาจะย้ายถิ่นฐานกลับภูมิลำเนา

ข้อมูลเขาว่า  เคยมีวิจัยไม่นานมานี้ที่อเมริกา   ให้เด็กฟังเพลงเดียวกันจากสี่แหล่งเสียง  (๐๑ไวนิล-แผ่นเสียง  ๐๒ซีดี  ๐๓เอ็มพีสาม(เรสโซลูชั่นสูง)  ๐๔ เอ็มพีสาม(เรสโซลูชั่นต่ำ  อย่างที่ดาวน์โหลดกัน)  ว่าอย่างไหนเขาพึงพอใจ  หรือแปลว่าเพราะที่สุด  ผลที่ได้คือ  เอ็มพีสามเรสโซลูชั่นต่ำ

นึกถึงผัดไท  ที่แม่ผมเอ่ยอ้างประจำว่า  วันนี้หาคนทำผัดไทเป็นยากยิ่ง  ทำกันมั่วๆทั้งนั้น  นี่ไม่ใช่ผัดไทอย่างที่เคยเป็น  พร้อมทั้งบอกเล่าขั้นตอนส่วนผสมผัดไทว่าจริงๆแล้วมันประณีตยังไง…

นึกถึงข้าวหลาม  พ่อแม่ก็บอกว่ามันเปลี่ยนไปมากมาย  เมื่อก่อนแต่ละท้องที่มีรสชาติเฉพาะตัวอยู่  เดี๋ยวที่เน้นหวานหมดทุกที่  แล้วเนื้อข้าวบางที่ก็เปลี่ยนไป  ไม่ได้มาจากการเผาอย่างเดิม  ประมาณว่านึ่งก่อนแล้วค่อยเผา…

นึกถึงอาหารฟิวชั่น  ว่ามันคิดใหม่  หรือว่ามันทำอย่างเดิมไม่เป็นกันแน่หนอ…

นึกถึงกุ้งสด  ผ่านไปอีกห้าปี  กุ้งซีพีจะกลายเป็นมาตรฐานกุ้งสดรึเปล่า…

นึกถึงเนื้อย่างลาบอุดร  ที่ผ่านการต้มมาก่อน สั่งเมื่อไหร่ค่อยย่างจะได้สุกเร็ว ทั้งยังใส่ซีอิ๋วดำ  ไม่รู้ว่าเอาเร็ว  และไม่ปรุงหรือยังไง??

นึกถึงก๋วยเตี๋ยวต้มยำ  เท่าที่จำได้  เมื่อก่อนไม่เน้นหวานขนาดนี้  ตอนนี้สรุปว่า  ต้มยำแปลว่า หวาน+เปรี้ยว

เคยถกเถียงด้วยความเบื่อหน่ายของคำว่า “เมื่อก่อน….”

“อ้าว….แล้วเมื่อก่อนของเมื่อก่อน  มันจะเป็นอย่างไรเล่า”  มันอาจจะเป็นอย่างตอนนี้ก็ได้ใช่ไหม  หรืออาจแตกต่างจนเราคาดคิดไม่ถึงอย่าง ไวน์หรือเบียร์

เอ….หรือมันคือโลกของการสัมพัทธ์โดยแท้….

เพ็นดูลั่มแห่งความคิด  แห่งรสนิยม  แห่งความเหมาะสม  แห่งมาตรฐาน  แกว่งไปมาอย่างไม่รู้จบอย่างนั้นหรือ….

เอ้า…ฟุ้งๆกันไป   คร่อก…

Read Full Post »

“สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์  เมืองไทยต้องการพัฒนาข้าวเพื่อส่งออก  ต้องการเป็นผู้นำการส่งออกข้าวที่ใหญ่ที่สุดในโลก  ก็ไปจ้างนักวิชาการจากสหรัฐฯ มาคัดเลือกและพัฒนาเมล็ดพันธุ์ข้าว  นักวิชาการคนนี้สั่งให้รวบรวมเมล็ดพันธุ์ข้าวจากทั่วประเทศ  ได้มาสองร้อยกว่าชนิดก็ลองปลูก  เอาปุ๋ยใส่  แปลงไหนที่ตอบสนองปุ๋ยดี  คือใส่ปุ๋ยแล้วโตดี  เขาก็เก็บไว้  แปลงไหนไม่ชอบปุ๋ยก็ตัดออก  พันธุ์ข้าวที่ได้คือพันธุ์ข้าวที่ชอบปุ๋ยทั้งสิ้น  มหาวิทยาลัยต่างๆ ก็สอนเทคนิคเดียวกันหมด  ทุกวันนี้เราเลยพัฒนาแต่พันธุ์ที่ตอบสนองต่อสารเคมีทั้งสิ้น  พันธุ์ที่เราปลูกทุกอยู่วันนี้จึงอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีปุ๋ยเคมี  ยาฆ่าแมลง  เพราะเขาเลือกแต่พันธุ์อ่อนแอพวกนี้ไว้  คนปลูกจึงจำเป็นต้องใช้สารเคมีตลอด  เวลาขายก็ขายเป็นเซ็ต  ซื้อเมล็ดพันธุ์แล้วต้องซื้อปุ๋ยกับยาฆ่าแมลงไปด้วย  ไม่ใช้ก็ไม่ได้  เพราะมันจะไม่โต

อย่างข้าวหอมมะลิแท้  เมล็ดเล็กๆ ก้นเรียวๆ หุงแล้วหอมไกลมาก  แต่ทุกวันนี้เราพัฒนาให้เมล็ดใหญ่  ให้รวงดก  แต่กลิ่นไม่เหมือนเดิม  ไม่หอม  รสชาติก็ไม่เหมือนเดิม  แต่ได้ผลผลิตสูง  ปลูกแล้วขายได้  การพัฒนาพันธุ์ในปัจจุบันไม่ได้พัฒนาให้คนกิน  แต่เพื่อขาย  เพื่อยึดครองตลาด  เท่านั้นเอง  เวลาชาวบ้่านเขาพัฒนาพันธุ์ข้าว  เขาคัดเลือกพันธุ์ที่ดีจริงๆ เอามาปลูกต่อ แจกจ่ายต่อ  แต่ภาคธุรกิจกับภาครัฐบาลกลับทำสิ่งที่ตรงกันข้าม  คือเขาพัฒนาพันธุ์ที่อ่อนแอที่สุด  แต่ให้ผลผลิตมาก  รสชาติไม่ต้องพูดถึง  แย่  อายุก็สั้นมาก  อย่างมะเขือเทศพื้นบ้าน  ถ้าดินดี  นำ้ดี  อาหารดี  มันอยู๋ได้เป็นปี  พันธุ์ที่ผมปลูก  ต้นเดียวเลี้ยง ๒ ครอบครัวได้สบาย  เก็บทีนึงเป็นถัง  แต่พันธุ์ที่ไปซื้อเมล็ดพันธุ์มาลูกมันจะดกมาก สามเดือนกว่าๆ  ลูกเต็มต้นเลย  ออกครั้งเดียวแล้วก็ตายเลย  รสชาติก็แย่

รู้ไหมว่า  มำไมมะเขือเทศที่เรากินทุกวันนี้ถึงเหนียว  เพราะฟาร์มใหญ่ๆที่ปลูกมะเขือเทศมีพื้นที่เป็นพันไร่  มันเสียเวลามากที่จะต้องใช้คนขนมะเขือเทศ  เขาเลยใช้สายพานส่งมะเขือเทศจากปลายไร่กลับมาในโรงงาน  มะเขือเทศก็กลิ้งมาตามสายพาน  ถ้าเป็นมะเขือเทศปรกติมันจะช้ำและแตก  เขาก็เลยออกแบบให้มันเหนียว  จะได้ขนส่งไกลๆได้  หรือบางอย่างออกแบบให้มีสีแดงแต่ยังไม่สุก  จะได้เก็บไว้ขายได้นานๆ  รสชาติไม่ได้เรื่อง

รสชาติของอาหารคือสิ่งที่บ่งบอกคุณค่าของอาหาร  ผักพื้นบ้านมีรสฝาด  รสขม  รสเปรี้ยว  หลายๆรส  แต่ผักที่เราซื้อจากซุปเปอร์มาร์เก็ตทุกวันนี้รสชาติเหมือนกันหมด  คือจืด  น้ำเยอะ  เป็นผักที่เติบโตจากไนโตรเจน  ฟอสฟอรัส  โปรตัสเซียม  ทุกวันนี้เราเหมือนกินพืชสังเคราะห์ ไม่ใช่พืชธรรมชาติ  อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเท็กซัสเอาบร็อกโคลี  มะเขือเทศ  มันฝรั่ง  มาทำวิจัยพบว่า  สารอาหารลดลงกว่าเมื่อ ๕๐ ปีที่แล้วถึงเกือบ ๕๐ เปอร์เซ็นต์  บางอย่างก็ ๖๐ เปอร์เซ็นต์  เพราะเราใส่ปุ๋ยเร่งให้โตเร็ว  ออกลูกเร็ว  ออกลูกใหญ่  การโตเร็วทำให้ไม่สามารถสะสมสารอาหารอย่างอื่นได้

เหมือนกับไก่ ปลา เราเร่งให้มันโตเร็ว  รสเลยจืดมาก  ไก่ปรกติใช้เวลา ๓ เดือน ถึงจะหนัก ๑ กิโล แต่ไก่ที่เรากินทุกวันนี้ใช้เวลา ๒๘ วัน  ผักบุ้งที่ขายในตลาดอายุ ๑๔ วัน ใส่แต่น้ำกับยูเรีย  นั่นแหละคือสิ่งที่เรากิน  เวลาคนแก่ตามบ้านนอกเข้ามาในเมือง  เขาเลยกินอะไรไม่ค่อยได้  กินปลาก็ไม่อร่อยเพราะเป็นปลาเลี้ยง  เนื้อมันยุ่ย  กินไก่ย่างก็บอกว่าจืดเหมือนกินฟองน้ำเพราะเป็นไก่ฟาร์ม  คนที่โตมากับฟาร์มอาจจะบอกว่าไก่พื้นบ้านมันเหนียวเกินไป  เพราะเราไม่คุ้น  ทุกวันนี้เราไม่ได้สนใจเรื่องรสชาติอาหารแล้ว  เราถูกฝึกให้กินในสิ่งที่เขาอยากให้กิน  ตอนนี้อะไรจะอร่อยไม่อร่อยมันขึ้นอยู่กับผงชูรสกับซอส  การปรุงอาหารเมื่อก่อนมีแต่เกลือ  แต่ทุกวันนี้มีซอสอะไรต่อมิอะไรเป็นแถวเลย  เพราะอาหารที่เรากินมันไม่มีรสชาติ  ต้องหารสชาติมาใส่เข้าไปเยอะๆ  จนไม่รู้ว่าเรากินอะไรบ้างแล้ว  ทำให้ทุกวันนี้เรากินอาหารเยอะๆ  อาหารดีๆ  แต่ก็ยังเป็นโรคขาดสารอาหาร

อาหารของเราอยู่ในภาวะวิกฤตมาก  เมล็ดพันธุ์ของเราสูญหายไป  และอยู่ในกำมือคนไม่กี่คน  แล้วก็คนไม่กี่คนก็พัฒนาเมล็ดพันธุ์มาเพื่อผูกขาด  ไม่ได้พัฒนามาเพื่อให้คนมีสุขภาพที่ดีขึ้น  อันนี้ทำให้เราเห็นว่าจำเป็นต้องรีบทำอะไรสักอย่างเพื่อระงับวิกฤตที่จะตามมาในเร็วๆนี้  วิกฤตทางอาหารถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก  ทุกชีวิตอยู่ได้เพราะอาหาร  ไม่มีอาหารเราก็อยู่ไม่ได้”

http://www.redbullspirit.org/index.php/seed-for-life/372-2009-02-20-10-37-42.html

http://www.volunteerspirit.org/node/983

……………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………….

ตัดและคัดลอกมาจาก  นิตยสาร  a day ฉบับ  ๑๐๙  คอลัมน์  ‘a day with a view’ สัมภาษน์ โจน จันใด (ผู้เคยบุกเบิกการสร้างบ้านดินในเมืองไทย)

Read Full Post »

วันนี้ได้ความรู้ใหม่  จากกลุ่มนักเรียนที่ไปๆมาๆเป็นน้องคณะวิศวฯ รุ่น ๙๒ อินเตอร์เสียด้วย  เป็นน้องสาวหนึ่งน้องชายสาม  จากที่เคยได้พูดคุยจากชั่วโมงเรียนก่อนหน้านี้ได้ความว่า  น้องๆเขาอยู่ภาควิชา สารสนเทศ

“เหรอ…แล้วมันเป็นยังไงล่ะ  ตอนรุ่นผมไม่มีภาคนี้หนะ  เกี่ยวกับการจัดการข้อมูลเหรอ”

“อือออ….พี่มันก็ทำนองนั้น คล้ายๆเป็นลูกผสมระหว่างภาคคอมพ์กับภาคไฟฯแหละพี่ ผมก็อธิบายไม่ค่อยถูก”

“เหรอๆ…”ก็ได้ประดับความรู้มาอีกหน่อย ไม่ว่าน้องแกจะอธิบายไม่ถูกหรือขี้เกียจอธิบายก็ตาม  ‘วิศวกรสารสนเทศ’ อือ…ไม่ธรรมดาๆ

กลับมาที่วันนี้

“ใครเป็นคนเลื่อนเวลาล่ะนี่” ผมถามเมื่อน้องๆมาถึงโรงเรียน  ภูมิใจเหมือนกันนะเนี่ยที่ผมไม่เคยมาสายเลยแม้แต่ครั้งเดียว  ไม่ว่าคืนก่อนนั้นจะดึกจะหนักซักแค่ไหน  แหะๆ  หมดสภาพผมก็ลาเสียเลยไง  มันเก๊าะเลยไม่เคยสาย  แต่น้อยครับสภาพขนาดนั้น  ยังไงถ้าลากสังขารไปได้ไม่มีขาดไม่มีสายอยู่แล้ว

“หนูเองค่ะ” น้องสาวชูมือ

“เกิดอะไรขึ้น” ผมถามต่อ

“เดี๋ยวหนูต้องไปเรียนพิเศษที่สยามฯ ตอนสี่โมงเย็นหนะพี่  เขานัดกันวันนี้”

ผมพยักหน้ารับทราบ  นึกในใจน้องคนนี้นี่มันขยันเรียนขยันรู้จริงๆ  นอกจากเรียนกีตาร์กับผมแล้ว  เท่าที่รู้น้องแกยังมีเรียนเปียโน เรียนร้องเพลงอีก

“แล้วนี่  เรียนอะไรอีกหล่ะเรา” ผมถามไปเรื่อย  เด็กปีสอง บ่ายแก่ๆวันพุทธ  มันมีอะไรเหมาะสมหน้อ….

“เรียนไฟฟ้าค่ะ”น้องตอบ

“หา…ไฟฟ้า  ยังไงเนี่ย” ผมงงแฮะ

“ก็เรียนอย่างที่คณะสอนแหละพี่  ก็เหมือนเรียนพิเศษทั่วๆไปนั่นแหละ” น้องชายอีกคนตอบ

“เหรอ  อือๆๆ” ถือว่าเป็นความรู้ใหม่อีกอย่าง  วิชาในมหาฯลัยเขาก็เปิดสอนพิเศษกันแล้ว  โถ…จ่ายค่าเทอมก็แพง  แล้วยังต้องขวนขวายหาเรียนพิเศษอีก  นึกถึงทุนของรุ่นเราแล้วก็แอบถอนหายใจเบาที่สุดในโลก

ปลื้มใจสังคมเราจริงๆ  ช่างอุดมไปด้วยการศึกษาแลพาณิชย์ถ้วนทั่วดีเหลือเกิน

Read Full Post »

หลังจากได้อ่านข่าว Mary Travors แห่ง Peter Paul & Mary จากไปด้วยโรคร้ายมะเร็งเม็ดเลือดขาว เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๒ สิ้นสุดการเดินทางของตำนานโฟล์คอีกหน้าหนึ่งของโลก  ว่ากันว่าตลอดกว่าสามสิบปีที่ผ่านมา  Peter Paul & Mary ออกแสดงประมาณ สี่สิบครั้งต่อปี

ข่าวนี้ทำให้ผมนึกถึง Michael Jackson นึกถึง Johm Denver นึกถึง Jim Croce , George Harison, John Lennon , Miles David , Billie Holiday , Caren Carpenter ไปจนถึง ครูเอื้อ สุนทรสนาน , เรวัติ พุทธินันท์  ใครต่อใครมากมาย นักร้อง นักแต่งเพลง  นักดนตรี ระดับตำนาน  ที่จะต้องถูกยกมาอ้างอิงอยู่เสมอๆ

แล้วก็เริ่มรู้สึกหวิวๆอยู่บ้าง  เป็นการดีไม่น้อยที่เราได้เกิดได้โตทันรับรู้ ใกล้ชิด กับยุคสมัยของบุคคลเหล่านี้  ทั้งโดยตรงผ่านเวลาของเราเอง  หรือผ่านจากผู้ใหญ่ใกล้ชิดรอบตัว

นั่นคือเราทันได้สัมผัส นักร้อง นักแต่งเพลง  นักดนตรี ที่ยิ่งใหญ่มากมาย  หลัง ทศวรรษที่ ๑๙ เรียกได้ว่าไม่เหลือใครที่สร้างตำนานอีกเลยจนปัจจุบัน  อาจสร้างก็ได้เพียงปรากฎการณ์  แต่จะไม่มีอีกแล้วอัลบั้มที่ทุกคนต้องฟังทุกคนต้องชื่นชม  อัลบั้มที่เป็นสมบัติของบ้าน  งานระดับตำนานไร้กาลเวลา

ยุคเรายังเอื้อมรู้จัก The Beatles ได้  สัมผัส Elvis ได้ Frank Sinatra ได้

The Venture , Led Zepplin , Jimi Hendrix , Urah Heep , Black Sabbath , Pink Floyd , Rollin’Stone ,Van Halen , Cream , Yes , Rush , The Beach Boy , Carpenter , B.B. King , Queen , Marvin Gaye และใครต่อใครอีกมากมายก่ายกองเท่าที่จะนึกกัน

ปัจจุบันและอนาคตต่อไป  จะมีใครขึ้นชั้นระดับนั้นได้บ้างหนอ  ใครที่จะสามารถออกแสดงได้ตลอดสามสิบปีโดยไม่มีอัลบั้มใหม่  ใครที่จะมีคนภักดีในเพลงของเขาได้ยาวนานอย่างนั้นได้อีก  พร้อมจะเปล่งเสียงเพลงในอัลบั้มแรกๆไปกับพวกเขาได้ตลอด  ตลอดหลายสิบปี  เป็นความรู้สึกที่คนอีกรุ่นหนึ่งถัดมาไม่สามารถสัมผัสถึงได้ในเร็ววัน

ก็นับว่ารุ่นเราก็มีโอกาสที่ดีไม่น้อยทีเดียว  สุขแบบเหงาๆยังไงไม่รู้

Read Full Post »

นี่ขอเปิดเรื่องซีเรียสหน่อยนะ  ถ้าใครกะชิลล์ก็ขอให้ข้ามไปเลยเน้อ

วันนี้ได้มีโอกาสๆได้นั่งคุยกับพี่ที่น่าจะถือได้ว่าเป็นรุ่นกลางของวงการเพลงบ้านเรา  เพิ่งได้รู้ว่าเรียลลิตี้โชว์รุ่นแรกๆที่ใช้เพลงนั้น  ว่าจ้างกันแกะเพลงเรียบเรียงเพลงวางซาวน์กันเพลงละพันบาทเท่านั้น โอย…ตายๆ  แล้วเขาก็ไต่ต่อรองกันมาได้มากขึ้นในปีต่อๆมา  ก็ไม่กี่เท่าไหร่กัน  แล้วนั่นหนะอาทิตย์ละสิบถึงสิบสองเพลงเชียวหน่า

เพื่อนเคยเล่าว่าจ้างเด็กเอาแบบสอบถามไปให้ชาวบ้านเขากรอก  ไม่ต้องใช้ความเป็นผู้เชี่ยวชาญใดใดก็ให้วันละพันแล้ว  ไอ้คนที่เล่าเรียนฝึกฝนมาเกือบทั้งชีวิตจะรู้สึกอย่างไรหนอ

ที่น่าเจ็บใจอีกอย่างก็คือ  อัลบั้มเพลงนั้น  เดี๋ยวนี้ทำไปก็เสียเปล่า  นั่งขบนั่งคิดกันเป็นเดือนๆ  บางทีร่วมปี  มีเงินกระเด็นกลับมาไม่กี่ตังค์  ลงทุนเครื่องไม้เครื่องมือกันไปก็เท่านั้น  โหลดกันเข้าไป ก๊อบกันเข้าไป  แล้วดันมีความสุขกับมันอีกนะ  ความสุขจากมันสมองคนทำงาน  มันน่าเคืองมั้ยนี่

เวลาเฮเวลาฮาก็แหกปากร้องเพลง  เพลินๆก็ฮัมเพลงนั้นเพลงนี้  บางทีถึงขั้นอินว่าโอ้โห้…เนื้อหามันเจ๋ง  ร้องสุดยอด  ดนตรีสุดโคตร  ไพเราะเกินจะติ  หึๆ ….

เวลาเห็นคนอื่นโกง   เราเจ็บเรารู้สึกไม่แฟร์  เฮ้ย…ได้ไงวะ  แต่พอเราโกงคนอื่น  ก้อมันอย่างโน้นอย่างนี้อย่างนั้น  จะหาเหตุให้ดูสมควรว่างั้น  เหตุเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตัวเองเนอะ

ครั้งนึงนั่งกินเหล้าที่บ้าน  เพื่อนโชว์นาฬิกาเรือนแสนกว่าบาทพร้อมขอยืมซีดีแผ่นละร้อยแปดสิบไปก๊อบ  ตอนนั้นอึ้งไปเหมือนกัน ไม่รู้ควรตอบยังไงดี  สุดท้ายก็ให้ยืม ก็ไม่อยากขัดใจเพื่อน ( จริงๆ เพื่อนมันก็ขัดใจเราเหมือนกันนะ  แต่มันไม่คิด )  อันนี้ข้าเจ้าผิดเอง  นี่แลอุปถัมป์

หลายครั้งข้าเจ้าก็เลือกเองที่จะเป็นคนเลือกเพลงไรท์ซีดีให้เพื่อนๆ  ด้วยก็รู้ว่าบอกมันไปว่าดีมันก็ไม่ซื้อ  น้อยคนนักที่จะสปอร์ตพอ  ก็อยากให้ได้ฟังงานดีๆ  คนร้องเพลงดีๆ  เพื่อจะได้สนับสนุนกันต่อไป  ยกเว้นงานเพลงเก่าเล่าเรื่องนะ  อันนั้นเข้าใจหลายๆเพลงเป็นของหายากที่สะสมไว้  อันนี้ไม่เป็นไร

เคยมีรุ่นพี่เพื่อนที่กวนประสาทไม่หยอกถามว่า

“มาพูดเรื่องลิขสิทธิ์นี่หนะ  ใช้ซอฟท์แวร์ลิขสิทธิ์หรือเปล่า”

“ยังเลยพี่  รอมีตังค์หนะพี่  ”

“งั้นอย่ามาพูด”  อ้าว  ไอ้นี่  คุณพี่มึงตัดบทซะงั้น  ไม่ฟังต่อว่ากูจะว่ายังไง  ขอได้ซักคำที่ลงโจทย์ของมึงว่างั้น  ปิดเกม

พรรคพวกที่มาบ้านรู้  ของลิขสิทธิ์นั้นหนะเต็มบ้าน  ก็ยอมรับของเถื่อนก็มีอยู่บ้าง  บางทีก็ไม่มีตังค์จริงๆ  แต่ต้องทำการบ้านเพื่อตอบโจทย์งาน  ก็ต้องหาอะไรที่พึ่งพาได้เอาตัวรอดไปก่อน  แต่ถ้าเทียบส่วนแล้วห่างไกลกันสิ้นเชิง  อ้อ….บางงานที่ลงทุนไปแล้วยกเลิก  ทุกอย่างก็สูญไปฟรีๆหนา  นั่นก็ส่วนนึงที่กองอยู่ที่บ้านหนะ

อย่าเลย….มานั่งตำหนิการเอาเปรียบกันระดับใหญ่ระดับโต  แต่การเอาเปรียบระดับยิบระดับย่อยนั้นกลับมีสิทธ์ทำกันโดยเสมอภาค  แล้วยังจะมานั่งตำหนิใครได้หรือ

Read Full Post »

ทั้งหมดตัดทอนจาก บทความ “เลิกคิดจึงเข้าใจ” จากหนังสือ “ผ่านพ้นจึงค้นพบ แกะรอยจิตวิญญาณในงานเขียน” โดย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล พิมพ์รวมเล่มครั้งแรก มีนาคม 2551 โดย สำนักพิมพ์สามัญชน

……………………………………………………………………….

ความคิดกับตัวตนเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ออก เพราะความคิดไม่เพียงพาเราหลุดลอยไปจากความจริงแห่งปัจจุบันขณะ… หากยังย้อนมาปรุงแต่งอัตตาของผู้คิดด้วย เพราะฉะนั้นหนทางหนึ่งในการสลายตัวตนคือการหยุดคิดและหันมาสัมผัสโลกตามที่มันเป็นอยู่ เป็นหนึ่งเดียวกับมันในทุกห้วงยามโดยไม่ต้องไปตีความ‘  (รู้ทันตัวเอง)

……………………………………………………………………….

ตัวตนที่เราสมมติขึ้นมา ทำให้เรายืนประจันทุกอย่างที่ไม่ใช่เรา และทุ่มเทพลังชีวิตไปสู่ผู้อื่นสิ่งอื่นให้สอดคล้องกับอุปาทานที่ห้อมล้อมสภาวะสมมติดังกล่าว เช่นนี้แล้ว โลกเแห่งอัตตาจึงเป็นโลกแห่งความขัดแย้ง… คงไม่ผิดความจริงมากนักหากจะกล่าวว่า โลกแห่งอัตตาคือสนามรบเพื่อช่วงชิงฐานะครอบงำ‘ (รู้ทันตัวเอง)

ตรงนี้นับว่าเป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์ที่ลึกล้ำยิ่ง เพราะมันเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการแบ่งแยกเราเขาฉันเธอ อีกทั้งมักนำไปสู่การตัดสินคุณค่าโดยมีตัวเองเป็นศูนย์กลาง ตลอดจนโลกทรรศน์แบบขาวล้วนดำล้วน

สภาพดังกล่าวไม่เพียงเกิดขึ้นในระดับปัจเจกบุคคล หากบางครั้งยังสามารถขยายไปเป็นอัตตารวมหมู่ (Collective Ego) เป็นปรากฎการณ์ทางสังคม ดังจะได้เห็นจากบรรยากาศการเมืองไทยในระยะสองสามปีที่ผ่านมา

ช่วงนั้น ผมได้เขียนเตือนสติเพื่อนพ้องไว้อย่างตรงไปตรงมาว่า มายาคติที่ผู้คนยึดถืออาจสวนทางกับความจริง

ผมก็ไม่ได้ดัดจริตเหมือนกันเมื่อเอ่ยถึงลักษณะสัมพัทธ์ของความจริงทางสังคม และความเป็นอนิจจังของจุดยืนทางการเมือง… ผมเพียงแต่ห่วงใยว่าในการขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงสังคม เราอาจต้องเดินเฉียดกับดักแห่งความเคียดแค้นจนติดหล่มได้ เพราะเรา้ยึดถือป้ายประกาศทางการเมืองเป็นเรื่องขาวล้วนดำล้วนมากเกินไป… เรามีบทเรียนมากแล้วทั้งในระดับชาติระดับสากลที่ชี้ให้เห็นว่าการนำป้ายยี่ห้อทางการเมืองมาตัดสินกันอย่างสุดขั้ว ล้วนนำไปสู่โศกนาฏกรรม‘ (นอกเหนือการเมือง)

……………………………………………………………………….

วิธีเดียวที่จะทำให้คนอื่นครอบงำท่านไม่ได้ คือ การไม่ปรารถนาอะไรจากพวกเขา เมื่อไม่ปรารถนาสิ่งใด คนอื่นไม่เพียงต้องถอนแรงกดดันออกไป แม้แต่ตัวท่านบัดนี้ยังต้องถือว่าถอนตัวจากตนเอง… ใช่หรือไม่ว่าเมื่อไม่ต้องการสิ่งต่างๆจากผู้อื่น ท่านย่อมก้าวพ้นโซ่ตรวนภายนอก และเมื่อเลิกยึดติดในความต้องการของตัวเอง ท่านย่อมหลุดพ้นจากพันธนาการภายใน‘ (ผู้อื่นในตัวเรา)

……………………………………………………………………….

แน่ละว่า การทดสอบสำคัญที่สุดของภาคปฏิบัติ คือปฎิกิริยาของเราในสถานการณ์ที่ตัวตนถูกคุกคาม ยามนั้นเราจะปกป้องหรือปล่อยวางมัน นับเป็นเรื่องที่หลอกตัวเองไม่ได้ และถือเป็นดัชนีวัดระดับการเติบโตทางจิตวิญญาณที่แท้จริง

ต่อประเด็นเช่นนี้ ผมมีบันทึกประสบการณ์อยู่สองเรื่องคือ ‘วันที่ถอดหมวก’ กับ ‘คน หมาและงู’ กรณีแรกผมถอดหมวกให้หมาจรจัดที่ไม่ชอบคนใส่หมวก  กรณีที่สอง ผมขอร้องงูเห่าที่กำลังแผ่แม่เบี้ยให้แยกไปอย่างสันติ ในทั้งสองกรณีผมถูกคุกคามทางกายถึงระดับความเป็นความตาย ยังไม่ต้องเอ่ยถึงการท้าทายทางด้านความคิดและจิตใจ

คนเราถ้าติดหลงในเรื่องไหนมาก บทเรียนที่ฟ้าดินมอบให้ในเรื่องนั้นก็ยิ่งแรงพอๆกัน เช่นนี้แล้วมันคงไม่ใช่เรื่องบังเอิญแน่นอนที่คนยึดถือศักดิ์ศรีอย่างผมต้องมาก้มยอมให้กับหมาจรจัดตัวหนึ่งเพื่อฝึกฝนทั้งความเมตตาและความนอบน้อมถ่อมตน‘ (วันที่ถอดหมวก)

แต่เมื่อมองย้อนหลังไปแล้ว ผมรู้ว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผมสื่อกับสัตว์ทั้งสองได้สำเร็จ รอดพ้นการเจ็บตัว ก็เพราะในห้วงยามนั้นผมได้สลัดความเห็นทั้งหมดออกไป… ไม่มีใครเป็นคน ไม่มีใครเป็นหมา ไม่มีใครเป็นงู ไม่มีใครเป็นมิตร ไม่มีใครเป็นศัตรู ไม่มีใครอยากทำร้ายใคร… ทุกอย่างเป็นสำนึกแห่งปัจจุบันขณะ เป็นปฎิสัมพันธ์แบบฉับพลัน เป็นธรรมชาติ ระหว่างสรรพชีวิตที่ถือกำเนิดจากธาตุเดียวกัน

พูดก็พูดเถอะ เรื่องนี้ต้องเลิกใช้ความคิดจึงเข้าใจ

Read Full Post »

เคยไหม?  ที่กลัีบถึงบ้านแล้วอยากเปลี่ยนเสื้อผ้า  อยากเปลี่ยนชุด เพราะอะไร? เพราะพื้นเพปรกติเราไม่ใช่หรือเปล่า บางทีเราล้วงสตางค์ล้วงข้าวของก่อนเปลี่ยนชุด  เพราะเราแคร์ในสิ่งที่หลงเหลือจากภายนอกหรือเปล่า  (ยอมรับเถิด ว่าบางทีมันนอกเหนือจากการถูกส่งซัก) บางทีมันตอบความเป็นเราบางอย่างหรือเปล่าจากการที่กลับมาจากข้างนอกสู่บ้าน  หรือเปล่าครับท่าน???

Read Full Post »

วันนี้ผมไปดู concert ของทางจุฬาฯ Momentum by SUPERcussion กำหนดการแสดง 1ทุ่ม แต่การแสดงก็ช้าออกไปร่วม 20 นาที  ไม่แค่นั้น ผู้ชมยังเดินเข้าอยู่เรื่อยๆหลัังการแสดงเริ่มไปแล้วถึง 20 นาที เมืื่อพักครึ่งเวลา ตามกำหนดก็คือ 15 นาที ก็ยังมีคนที่เข้าสายอีกจำนวนหนึ่ง จนเมื่อการแสดงจบ เกิดการขลุกขลักอยู่พักหนึ่ง ก่อนที่จะประกาศเชิญประธานมอบดอกไม้ให้เหล่านักดนตรี แต่ขณะนั้น ผู้คนนักเรียนนักศึกษาลุกขึ้นเดินออกจากคอนเสิร์ต ย้ำ! ขณะที่ประธานกำลังทยอยมอบดอกไม้  ผู้คนเหล่านั้นสีหน้าไม่รู้ร้อนอะไรเลย  หลายๆคนลุกขึ้นเดินหาเพื่อนบ้าง  ยืนคุยกันบ้าง ในจำนวนนั้นมีคนมายืนคุยกันตรงหน้าผมด้วย เฮ้อ… มีเด็กบางคนมายืนคร่อมหัวแม่ผมแล้วคุยกับเพื่อนในแถวที่นั่งข้างหลังแม่ผมด้วย แล้วไม่ใช่ครั้งเดียว ไม่ใช่คนเดียว  นี่ยังไม่นับที่ยังคงมีคนคุยโทรศัพท์ขณะที่การแสดงดนตรีดำเนินอยู่ บางคนก็คุยก็คิกคักกันเอง นี่ไม่ใช่คอนเสิร์ตแรกที่ผมเจอ เพียงแต่ครั้งนี้หนักข้อไปหน่อย  ในโรงภาพยนตร์ก็เหมือนกัน ทำให้ผมอดคิดไม่ได้ว่า คนเหล่าที่กล่าวมานี้เขาเข้าใจสิทธิ์ของตนเองหรือของคนอื่นแค่ไหน  มันชี้วัดอะไรในสังคมบ้าง

Read Full Post »