Feeds:
Posts
Comments

Posts Tagged ‘ภูฏาน’

รัฐบาล นักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ ซีอีโอบริษัท รวมถึงวิศวกรตัวเล็กๆ อย่างผมล้วนแล้วแต่ต้องเอาตัวเองเข้ามายุ่งเกี่ยวกับปริมาณที่เรียกว่า จีดีพี อยู่บ่อยครั้ง การศึกษาความเหมาะสมของโครงการพัฒนาอะไรก็แล้วแต่ก็มักจะมาอ้างอิงถึง จีดีพี ราวกับเป็นบทบัญญัติศักดิ์สิทธิ์ที่ทุกคนเห็นแล้วต้องยอมรับ

จีดีพีหรือผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product-GDP) คือมูลค่ารวมทั้งหมดของสินค้าและบริการที่ผลิตขึ้นภายในประเทศ ผลรวมของจีดีพีบ่งบอกถึงปริมาณกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และเกือบทุกประเทศทั่วโลกก็ถือเอาอัตราการเติบโตของจีดีพีเป็นเป้าหมายการพัฒนาความมั่งคั่งของประเทศ

แนวความคิดนี้ถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวางถึงข้อด้อยในหลายด้าน ด้วยความจริงที่ว่า GDP เป็นเพียงแบบจำลองที่อ้างถึงแต่หน่วยเงินตรา แต่ไม่ได้รวมเอากิจกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ไม่ได้คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรบุคคลและทรัพยากรธรรมชาติ ไม่สามารถอธิบายได้ถึงความแตกต่างระหว่างชนชั้น ไม่ว่าใครจะมีเงินมากเงินน้อยก็เอามากองรวมกันไว้เป็นเงิน “ประเทศ” ทั้งหมด รวมทั้งไม่ได้บอกถึงคุณภาพชีวิตของคนและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ

กษัตริย์จิกมี ซิงเย วังชุก พระราชบิดาของกษัตริย์ภูฏานองค์ปัจจุบันเป็นคนที่เสนอแนวความคิดในการพัฒนาประเทศโดยอ้างอิงกับ “ความสุข” ของประชากร ไม่ใช่ความร่ำรวย โดยตั้งอยู่บนหลักการทั้งสี่ ได้แก่ การพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน การอนุรักษ์และส่งเสริมคุณค่าทางวัฒนธรรม การรักษาสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ และธรรมาภิบาล

ความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness – GNH) ถูกคิดค้นขึ้นโดยมีสูตรการคำนวณ

GNH index = 1 – (a1+a2+…..+a72)/72

เมื่อ a1, a2,… a72 คือค่าความสุขในเรื่องต่างๆ มีค่าตั้งแต่ 0 ถึง 1 เพราะฉะนั้นดัชนี GNH นี้คำนึงถึงความสุขในด้านต่างๆ ถึงเจ็ดสิบสองเรื่อง และสูตรนี้ก็มีการพัฒนาต่อเนื่องทุกครั้งที่มีการประชุมนานาชาติของกลุ่มประเทศที่ใช้ GNH เป็นดัชนีชี้วัด โดยครั้งล่าสุดมีการประชุมที่วัดหินหมากเป้ง จังหวัดหนองคาย เมื่อปี 2550 เสียดายที่กลุ่มประเทศที่ยอมรับ GNH มาใช้เป็นกลุ่มประเทศเล็กๆ ในเอเชีย ไม่กี่ประเทศเท่านั้น

จุดอ่อนอย่างนึงของ GNH ที่ถูกยกขึ้นมาเป็นข้อโต้แย้งบ่อยๆ ก็คือเป็นวิธีการให้คะแนนในด้านต่างๆ จากความรู้สึก ไม่มีกฎเกณฑ์ที่แน่นอน ปริมาณความสุขจึงขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน

ทางฝั่งยุโรปและอเมริกาก็จะมีแนวคิดคล้ายๆ กันในการหาสิ่งทดแทนจีดีพี ซึ่งตัวชี้วัดใหม่เหล่านี้ให้ความสำคัญกับความมั่งคั่งน้อยลง แต่คำนึงถึงคุณภาพการดำรงอยู่ของคนและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพียงแต่มีวิธีวัดแตกต่างกันออกไป อย่างเช่น Human Development Index, Satisfaction with Life Index, Genuine Progress Indicator หรือ Happy Planet Index ที่นำเอาต้นทุนที่โลกต้องจ่ายมาคำนวณเป็นส่วนหนึ่งของการวัดประสิทธิภาพ

แต่ละประเทศ แต่ละสถาบันเริ่มออกเดินหาคำตอบกับโจทย์ข้อนี้ในทิศทางที่แตกต่างกัน หรือเป็นเพราะเราออกเดินจากจุดเริ่มต้นที่ไม่เหมือนกัน

แต่ทั้งโลกก็เริ่มดูเหมือนจะแยกย้ายกันออกตามหาสิ่งเดียวกัน

Read Full Post »