Feeds:
Posts
Comments

Archive for the ‘วิทยาการ’ Category

นานๆได้นั่งดูเพลงต่างๆทางทึีวีสักที  เออ…อันนี้มันทำสนุกแฮะ  ฟังแต่บีทตาก็ดูภาพ  ดูแล้วนึกถึงเพื่อนๆ เอามาแชร์ดีกว่า  ว่าแล้วก็คว้ากระดาษมาจดชื่อเพลง  ไม่ได้ทำอย่างงี้มานานมากแล้ว

นั่นหนะ เหวินเซียะเอ๋อ ใช่มั้ยอ่ะ

Read Full Post »

ตอนเด็กๆ เคยไปงานนิทรรศการแห่งหนึ่ง เขามีการแสดงคอมพิวเตอร์ และให้ผู้ชมลองเล่นดูได้ นับเป็นครั้งแรกที่ได้สัมผัสคอมพิวเตอร์ของจริง แม้จะเป็นเพียงคอมพิวเตอร์จอเขียวๆ และต้องพิมพ์คำสั่งเอา เพราะเมาส์อะไรก็ยังไม่มี แต่ก็ทำให้เด็กบ้านนอกอย่างเรา รู้สึกตื่นเต้นสุดๆ เจ้าคอมพิวเตอร์เครื่องนั้น มีเครื่องหมายการค้าเป็นรูปผลไม้อันโด่งดัง ก็เจ้า “Apple” นั่นไง

ผ่านมาช่วงทศวรรศที่ 90 Apple ตกอยู่ในสภาวะเกือบล่มสลาย ถูกคู่แข่งอย่าง Windows โกยส่วนแบ่งการตลาดอย่างรวดเร็วกลายเป็นยักษ์ใหญ่แห่งโลกซอฟท์แวร์ในเวลาต่อมา ซึ่งส่วนแบ่งการตลาด Windows มากถึงกว่า 90% ของ OS ทั้งหมดในโลกใบนี้

ผมเมื่อเริ่มใฃ้คอมพิวเตอร์จริงจัง ก็อยู่บน Windows Platform มาตลอด ใฃ้จนเคยชิน แต่ใจก็ยังนึกถึง Apple อยู่บ้าง แต่ด้วยที่ผ่านมา Apple Hardware มันแพงเอาเรื่อง แถมยังมีข้อจำกัดในด้าน Software ที่ไม่เหมาะกับการใฃ้งานของผมอีกด้วย จึงได้แต่แอบเมียงมองๆ

จนกระทั่งช่วงหลังๆนี้ Apple ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่ พร้อมทั้งได้มีการพัฒนา Software และ Hardware ที่ดึงดูดให้น่าคบหาขึ้นมาก รวมทั้งที่ได้นำเอา CPU ของ Intel มาใช้ ทำให้ราคาของเจ้า Mac ผ่อนปรนลงมาให้พอจะสามารถซื้อหากันได้มากขึ้น Apple จึงกลับมาสร้างความฮือฮาอีกครั้ง ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว

หลังจากที่ได้ถอย iPhone มาใฃ้ ทำให้ความสนใจใน Mac ของผม กลับมาอีกครั้ง (อย่างแรง) อีกทั้งได้ยินมาว่า สามารถลง Mac ในเครื่อง PC ได้ เกิดมีความหวังขึ้นมาว่า เจ้า Notebook คู่ใจของเรา อาจจะพอสวมวิญญาณ Mac กะเขาได้บ้าง

หลังจากศึกษาจากเว็บไซต์ต่างๆมากมาย และลองผิดลองถูกอยู่นาน ล่าสุดนี้ก็สามารถนำ Mac มาสถิตย์ในร่าง Notebook Dell ของผมได้แล้ว เย้! 
ทำให้สามารถใช้งาน Software ที่น่าสนใจต่างๆของ Mac ได้เสียที (โดยเฉพาะ เจ้า Keynote และ Garageband)

ใครสนใจก็ลองศึกษาเบื้องต้นตาม link นี้ก่อนนะ เป็นการลงผ่าน VMWare

http://www.nuuneoi.com/blog/blog.php?read_id=313

http://www.brighthub.com/computing/mac-platform/articles/64490.aspx

[ขอบคุณ Blog ของคุณเนย และ brighthub ในการนี้ด้วยครับ]

ปล. ลองไปถอย Macbook Black มือสองมาใช้ได้สัปดาห์นึง แต่ยังติดใจเจ้า Dell คู่ยากอยู่ เกิดรักพี่ เสียดายน้องซะแล้ว

Read Full Post »

พอดีกำลังทำำรายงาน เกี่ยวกับ Computer Science เรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องที่ว่าด้วย “Ubiquitous Computing” (Computing คือ การคอมพิวเตอร์ ไม่ใช่การคำนวนนะ) จึงขอนำมาเล่าให้ฟังกัน

โดยรากศัพท์แล้ว Ubiquitous หมายถึง มีอยู่ในทุกที่ (existing or being everywhere) นั่นคือ การที่มีคอมพิวเตอร์แทรกอยู่ในสิ่งต่างๆรอบตัวเรา ซึ่งบางทีเราก็ไม่ทันสังเกต เช่น ในโทรศัพท์, ทีวี, รถยนต์, หรือ อาจแม้กระทั่งในโถชักโครก

กล่าวกันว่า เรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคที่สามของโลกคอมพิวเตอร์ โดย แต่ละยุคมีลักษณะดังนี้

ยุคที่ 1 – Mainframe Computing

จำได้ไหม สมัยที่เราเรียนคอมพิวเตอร์กันที่ศูนย์คอมพ์ฯ ที่ไปนั่งคีย์ข้อมูลกันผ่านทาง Terminal เพื่อสั่งให้เครื่องคอมพิวเตอร์ Mainframe นั่นล่ะคือตัวอย่างของคอมพิวเตอร์ยุคแรก ซึ่งฮาร์ดแวร์ต่างๆยังไม่พัฒนานัก มีขนาดใหญ่ ราคาก็แพง จะมีคอมพ์ซักเครื่องก็ลำบาก จึงต้องใช้ร่วมกันหลายๆคน (Many person share one computer)

ยุคที่ 2 – Personal Computing (PC)

เมื่อฮาร์ดแวร์ต่างๆพัฒนาไปมากขึ้น สามารถสร้างคอมพ์พิวเตอร์ที่มีขนาดเล็กลง และมีราคาถูกลงอย่างมาก จนสามารถซื้อหามาใช้้เป็นคอมพ์ส่วนบุคคลได้ (One person, one computer) ในช่วงแรกๆของยุคนี้ แค่มีเครื่อง Desktop ก็หรูแล้ว แต่เดี๋ยวนี้ การพกพา Notebook เป็นเรื่องธรรมดาเสียแล้ว

ยุคที่ 3 –  Ubiquitous Computing

ด้วยความที่คอมพิวเตอร์ฮาร์ดแวร์ต่างๆมีประสิทธิภาพสูงขึ้นมาก และมีขนาดเล็กลงมาก ทำให้สามารถแทรกไปอยู่ในเครื่องใช้ต่างๆในชีวิตประจำวัน อีกทั้งความสามารถในการใช้งานแบบ Mobile ต่างๆ รวมทั้ง ระบบ Computer Network ที่แผ่ขยายครอบคลุมพื้นที่อย่างกว้างขวาง ทำให้เราสามารถใช้งานคอมพิวเตอร์ และเชื่อมต่อสู่ Internet ได้ในที่ต่างๆ โดยไม่จำกัดว่าต้องนั่งใช้งานหน้าจอที่บ้าน หรือ ที่ทำงานอีกต่อไป

คอมพิวเตอร์จำนวนมหาศาล เชื่อมต่อกันด้วยระบบเครือข่าย และสร้างสรรค์บริการนานับประการ เช่น เมื่อเราใช้โทรศัพท์ ท่องเว็บต่างๆ ขณะที่นั่งรถไปทำงาน เรากำลังใช้บริการจาก Servers จำนวนมากอยู่ เรียกว่า “Many computers serve each person”

[Source: http://sandbox.xerox.com/ubicomp/%5D

คอมพิวเตอร์ยุคใหม่นี้ จะมีความหลากหลายมาก เป็นส่วนประกอบในเครื่องใช้ต่างๆประจำวันของเรา มันจะใช้งานง่ายมากขึ้น และใช้ได้ในทุกที่ อย่างที่ CEO Apple นายสตีฟ แกบอกว่า Device (อุปกรณ์) ปรับตัวเข้าหาคน (ไม่เหมือนสมัยก่อนที่ หากจะใช้คอมพิวเตอร์ต้องไปเรียนรู้มากมาย) ต่อไปเราจะสามารถใช้คอมพิวเตอร์ต่ีางๆ ได้อย่างง่ายๆ จนบางทีไม่รู้ตัวว่ากำลังใช้มันอยู่

การปรากฏตัวของ iPad ที่กำลังจะวางตลาดนี้ ทำให้พอจะมองเห็นได้ว่า ต่อไปการพก Notebook หนาๆ หนักๆ ไปใช้งานในที่ต่างๆ จะกลายเป็นเรื่องล้าสมัยไปเสียแล้ว โลกมันหมุนไปไวจริงๆเนาะ

Read Full Post »

Freakonomics

 

Assume nothing.  Question everything.

อย่าตั้งสมมติฐานใดๆ แต่จงตั้งคำถามกับทุกอย่าง

นี่เป็นคำนิยมกึ่งคำนิยามที่เขียนไว้ที่ปกหลัง เป็นสองประโยคที่บอกความเป็นตัวตนของหนังสือเล่มนี้ได้อย่างสมบูรณ์ Steven D. Levitt และ Stephen J. Dubner พาไปสำรวจต้นตอของเหตุการณ์ต่างๆ ที่ดูไม่สมเหตุสมผล ว่าแท้ที่จริงมันมีเบื้องลึกอย่างไร และหลักวิชาเศรษฐศาสตร์สามารถอธิบายสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร

… 

ช่วงสี่ห้าปีหลังมานี่ผมสนใจกับเศรษฐศาสตร์ในฐานะที่มันเป็นสารปนเปื้อนอยู่ในพฤติกรรมการตัดสินใจของมนุษย์ในทุกเรื่อง (หรืออาจจะเป็นสารตั้งต้นด้วยซ้ำ) หลังจากอ่านหนังสือแนวเศรษฐศาสตร์ภาคคนไทยในชุดรวมเล่มของวรากรณ์ สามโกเศศ (โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี, เงินไหลมา) และนรินทร์ โอฬารกิจอนันต์ (เอาตัวรอดด้วยทฤษฎีเกม, เศรษฐศาสตร์ในกรุงเทพมหานคร) ผมก็เกิดอยากลองดูมุมมองที่แตกต่างของคนอเมริกันบ้าง หนังสือเล่มนี้วางอยู่บนชั้นหนังสือแนะนำของ Asia Books สยามพาราก้อน ผมเลยตัดสินใจเลือกมันอย่างง่ายดาย ด้วยว่ามันคงมีความเสี่ยง (ที่จะไม่สนุก) น้อยสุด

หนังสือเปิดตัวด้วยคำถามว่าอาจารย์และซูโม่เหมือนกันอย่างไร ในเรื่องนี้ผู้เขียนแสดงวิธีการใช้สถิติเพื่อพิสูจน์การโกงข้อสอบของอาจารย์มัธยมในชิคาโก้และการสมยอมกันในแมทช์ของกีฬาที่เชื่อว่าเป็นกีฬาที่มีเกียรติยิ่งอย่างซูโม่ หนังสือตีแผ่ข้อมูลรายละเอียดเป็นฉากๆ ให้เห็นความผิดปกติของข้อมูลโดยที่เราแทบไม่ต้องมีพื้นความรู้ทางสถิติเลย สุดท้ายก็ทิ้งปริศนาไว้ให้ขบคิดว่าความซื่อสัตย์ของทุกคนล้วนมีราคาที่ซื้อได้จริงหรือ

บทที่ตามมาเป็นเรื่องเกี่ยวกับคุณค่าของข้อมูลความลับ และวิธีที่นายหน้าขายที่ดินและกลุ่มคลูคลักซ์แคลนใช้ประโยชน์จากมัน เรื่องของการควบคุมคนด้วยการกำหนดโครงสร้างผลตอบแทนในองค์กรการค้ายาเสพติด สาเหตุลึกลับที่ไม่มีใครนึกถึงที่ทำให้อัตราอาชญากรรมลดลง ฯลฯ

ในตอนหนึ่งของหนังสือมีการอ้างถึงสี่ปัจจัยที่จะเป็นตัวชี้วัดผลตอบแทนของอาชีพต่างๆ ได้แก่ 1) จำนวนคนที่อยากจะทำงาน 2) ทักษะพิเศษที่จะต้องใช้ทำงาน 3) ความไม่น่าปรารถนาของงาน และ 4) ความต้องการในตลาดของงานนั้น และยกตัวอย่างว่าด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำไมโสเภณีจึงจะมีความเป็นไปได้ที่จะทำเงินได้มากกว่าสถาปนิก ข้อสรุปสุดท้ายผู้เขียนมีความเห็นว่า…

Let’s just say that an architect is more likely to hire a prostitute than vice versa.

วรรคทองที่พบในคำนำและในบทที่หนึ่ง น่ากลัวว่ามันไม่ได้เพียงแค่สรุปเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้เท่านั้น แต่มันอธิบายสรรพสิ่งต่างๆ ที่หมุนเวียนอยู่รอบตัว

[Morality] represents the way that people would like the world to work — whereas economics represents how it actually does works.

เราอยากให้ทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินไปด้วยวิถีแห่งจริยธรรม แต่ในความเป็นจริงโลกเราหมุนไปด้วยวิถีแห่งเศรษฐศาสตร์

คุยเรื่องนี้กับคนเหมือง เห็นว่ามีฉบับแปลเป็นไทยแล้วเหมือนกัน แต่ไม่ได้ถามรายละเอียด ในบางเรื่องอาจจะต้องมีความคุ้นเคยเรื่องราวในสังคมอเมริกันอยู่บ้าง แต่โดยรวมน่าจะเป็นหนังสือที่อ่านคล่องย่อยง่ายพอสมควร

ใครคิดว่าเศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องซับซ้อน น่าเบื่อ ไปร้านหนังสือคราวหน้าน่าลองพลิกอ่านหนังสือเล่มนี้ซักสามสี่หน้า

Read Full Post »

โด เดินทางถึง โด ตัวถัดไป  โด โดชาร์ป เร เรชาร์ป มี ฟา ซอล ซอลชาร์ป ลา ลาชาร์ป ที โด  ครบถ้วน สิบสองเสียง  พื้นที่นี้ยิ่งใหญ่มานานพอควร

เพลงเกือบทั้งหมดที่เราได้ยินและคุ้นเคยล้วนอยู่บนพื้นฐานนี้

….แต่มันมีแนวโน้วจะเปลี่ยนไป  …

…..เมาแล้ว…..ไว้วันหลังแล้วกัน

Read Full Post »

มีน้องคนนึงส่งลิ๊งค์นี้มาให้คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆว่ะ

จากเว็บมิสเตอร์ปาล์ม   http://www.mrpalm.com/list3.php?cont_id=1034

เค้าว่ามีเว็บของเนคเทคที่เราเข้าไปดูสภาพจราจร realtime เลย

http://www.traffic.thai.net/ (แท็บเพียบเรย งานการไม่ทำ  capture ภาพนี้เมื่อ 9 เม.ย. 52 เวลา 9.59 ดูดิมีตำแหน่งของผู้ชุมนุมด้วย )

trafficthainet

ถ้าใช้มือถือก็เข้าไปโหลดโปรแกรม Java มาติดตั้งได้ โดย

1. เข้าเน็ทจากมือถือที่รองรับ Java ไม่ว่าจะเป้น Symbian, Windowmobile พวกเนี้ยะ

2. ไปที่เว็บ http://www.traffic.thai.net/ แล้วดูทางมุมขวาที่เขียนว่า ” ดาวน์โหลดโปรแกรมบนมือถือ” จากนั้นก็กิ๊กโหลดมาซะ

3. ทำตามขั้นตอน พอเปิดโปรแกรมก็จะได้ตามนี้ ภาพจาก Mr.palm อีกแล้ว

ลองไปเล่นดูนะเพื่อนๆ

Read Full Post »

ความพยายามของมนุษย์ที่จะรักษาความสะดวกสบายที่เคยมีเอาไว้ไปพร้อมๆ กับการรักษาความน่าอยู่ของโลกใบนี้ไว้ให้นานที่สุด นำมาสู่การพัฒนาการขนส่งและการเดินทางในรูปแบบต่างๆ เพื่อที่จะบรรลุวัตถุประสงค์สองข้อที่ว่าไว้ ประเทศที่มีกำลังก็ทุ่มทุนไปกับการพัฒนาเทคโนโลยีและสร้างระบบการขนส่งในรูปแบบใหม่ๆ ในแนวความคิดที่สอดคล้องไปกับการลดมลภาวะ ทำให้เกิดโครงการกรีนโน่นกรีนนี่ ประเทศที่ยังไม่ถึงระดับนั้นก็ต้องมุ่งเน้นกับการดูแลชีวิตปากท้องและความสะดวกสบายของประชาชนและพรรคพวกก่อนที่จะไปกลุ้มใจกับสภาพแวดล้อมของโลก โดยที่พยายามจะละเลยและไม่รับรู้ว่าเรื่องราวทั้งหมดไม่เพียงแต่เกี่ยวข้องกัน โดยแท้จริงแล้วล้วนเป็นเรื่องเดียวกันทั้งนั้น

แน่นอนว่าการขนส่งมวลชนเป็นวิธีนึงที่ช่วยลดการใช้พลังงาน การขนส่งระบบรางเป็นระบบขนส่งมวลชนที่ประเทศส่วนใหญ่ให้ความสำคัญในการพัฒนาด้วยเหตุที่ว่ามันสามารถขนส่งทั้งผู้โดยสารและสินค้าได้ครั้งละมากๆ การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้การขนส่งระบบรางมีประสิทธิภาพมากขึ้น จากรถจักรไอน้ำสมัยเจมส์ วัตต์ มาถึงหัวรถจักรดีเซลที่ใช้น้ำมัน และก็เปลี่ยนเป็นรถไฟที่ใช้พลังงานไฟฟ้า และนวัตกรรมที่ก้าวหน้าที่สุดในปัจจุบันได้แก่รถไฟพลังแม่เหล็กหรือ Maglev

Shanghai Maglev Train เป็นรถไฟ Maglev ที่เปิดให้บริการเชิงพาณิชย์เป็นระบบแรกของโลกเมื่อปีพ.ศ. 25471 จากการทดสอบการวิ่ง รถไฟเซี่ยงไฮ้สามารถใช้ความเร็วสูงสุดได้ถึง 500 กม./ชม. แต่ในการให้บริการจริงจะวิ่งด้วยความเร็วสูงสุดเพียงแค่ 430 กม./ชม. รถไฟวิ่งจากสนามบินผู่ตง (Pudong) เข้าเมืองเซี่ยงไฮ้2 มีให้บริการทุกๆ 15 นาที ระยะทาง 30 กม. ใช้เวลาเพียงแค่เจ็ดนาทีกว่าๆ รถไฟเร่งความเร็วจากหยุดนิ่งถึงความเร็ว 100 กม./ชม. ใช้เวลา 40 วินาที เทียบเป็นอัตราเร่งก็ชิลๆ ประมาณ 0.07g ถ้ามีการเร่งแบบคงที่ คนนั่งในรถคงแทบจะไม่รู้สึกอะไรเลยถ้าไม่ได้ดูวิวข้างนอก

ชื่อ Maglev มาจากคำเต็มๆ ว่า Magnetic Levitation ลักษณะการทำงานก็แปลตรงตัวมาจากชื่อเลย คือใช้สนามแม่เหล็ก (Magnet) มายกให้รถไฟลอยอยู่บนราง (Levitation) รวมทั้งใช้ไฟฟ้าเหนี่ยวนำให้เกิดสนามแม่เหล็กเพื่อเป็นตัวขับเคลื่อนและหยุดรถ โดยอาศัยหลักการง่ายๆ ของการดึงดูดกันของแม่เหล็กต่างขั้ว และการผลักกันของแม่เหล็กขั้วเดียวกัน โดยจะมีชุดแผงขดลวดเล็กๆ อยู่สองข้างราง กระแสไฟฟ้าจะเป็นกระแสสลับที่เปลี่ยนทิศทางไปมาไปมาเพื่อจะเปลี่ยนขั้วสนามแม่เหล็กให้ผลักและดึงรถไฟไปข้างหน้าอยู่ตลอดเวลา โดยแผงรางที่อยู่ข้างหน้าจะมีขั้วแม่เหล็กตรงข้ามกับแผงที่ติดตั้งบนรถเพื่อที่จะดึงดูดรถ และแผงรางที่อยู่ข้างหลังจะมีขั้วแม่เหล็กเดียวกับแผงที่ติดตั้งบนรถเพื่อทำให้เกิดแรงผลักเสริมอีกแรงนึง

maglev
รูปจาก Transportion Engineer Blog

หลักความคิดนี้ไม่ใช่ของใหม่ แต่เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับแนวคิดของรถยนต์ที่ไม่ต้องอาศัยคนขับซึ่งมีมาตั้งแต่ปี 1930 แล้ว เพียงแต่มนุษย์เพิ่งจะสามารถพัฒนาการควบคุมคุณภาพการทำงานของอุปกรณ์ต่างๆ ในระบบนี้ให้อยู่ในระดับที่น่าพอใจเมื่อไม่นานมานี้เอง พอจะอนุมานได้ว่า มนุษย์เราอาจจะใช้เวลาไม่กี่วันที่จะฝันถึงอะไรใหม่ๆ แล้วก็ใช้เวลาอีกเจ็ดสิบกว่าปีหลังจากนั้นพัฒนาเทคโนโลยีให้ไล่ตามความฝันนั้นให้ทัน

มาดูแบบจำลองง่ายๆ กัน

ข้อดีของเทคโนโลยีแมกเลฟก็คือไม่ต้องใช้เครื่องยนต์ที่ก่อให้เกิดมลพิษ ไม่ต้องสิ้นเปลืองทรัพยากรน้ำมัน แล้วที่สำคัญที่สุดคือประสิทธิภาพสูงเนื่องจากไม่มีแรงเสียดทานระหว่างรถกับรางซึ่งเป็นปัญหาไม้เบื่อไม้เมากับการเดินรถและซ่อมบำรุงระบบรถไฟมาแต่ไหนแต่ไร สำหรับรถไฟเซี่ยงไฮ้นี่ ตอนที่รถวิ่งจะยกตัวลอยเหนือรางเพียง 1 เซ็นติเมตร นั่นคือระยะที่แสดงให้เห็นถึงความแม่นยำ (precision) และเชื่อถือได้ (reliability) ของระบบ โดยที่ไม่ใช้คนบังคับแต่มีระบบตรวจสอบและปรับแก้ตำแหน่ง ความเร็วและความเร่งด้วยการทำงานที่ซับซ้อนและละเอียดละออของคอมพิวเตอร์ เป็นอีกครั้งนึงที่มนุษย์ฝากชีวิตไว้ให้เทคโนโลยีดูแล ดูเหมือนเราจะเคยชินและยอมรับกับวิถีชีวิตแบบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ

ว่าจะเข้าไปดูรายละเอียดซักหน่อย เว็บไซต์อย่างเป็นทางการดันเป็น broken link เหมือนใครลืมจ่ายเงินต่อสัญญาเช่าพื้นที่ ซะงั้น…

เมื่อการเปิดใช้เฟสแรกได้รับการตอบรับอย่างดี และสร้างชื่อเสียงภาพพจน์เซี่ยงไฮ้ให้เป็นเมืองที่มีความทันสมัยระดับแนวหน้าของโลก รัฐบาลกลางอนุมัติให้ก่อสร้างส่วนต่อขยายไปถึงหางโจวเพื่อต้อนรับงาน World Expo ปีหน้า ทุกอย่างดูราบรื่น ประเทศได้ชื่อเสียง ผู้โดยสารได้ความสะดวกสบาย ไม่ต้องใช้พลังงานสกปรก แต่ประเด็นร้อนล่าสุด3 ของระบบ Maglev นี่ก็คือ ผลกระทบต่อชาวบ้าน ไม่ใช่มลภาวะทางอากาศหรือมลภาวะทางเสียงเพราะแมกเลฟเป็นรถไฟที่วิ่งโดยไม่ก่อให้เกิดควันพิษหรือเสียงดัง แต่ปัญหาใหญ่ที่สุดของมันก็คือผลกระทบของสนามแม่เหล็กต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ตามแนวเส้นทาง แม้รถไฟแมกเลฟจะมีแผงกันสนามแม่เหล็กติดตั้งอยู่ระหว่างท้องรถกับตัวรถ และกั้นส่วนขดลวดกับด้านนอกของราง แต่ก็ยังไม่มีใครมั่นใจว่ามันช่วยป้องกันผลกระทบร้อยเปอร์เซ็นต์

ขณะที่เรายังไม่ทราบแน่ชัดถึงผลกระทบต่อสนามแม่เหล็กความเข้มข้นสูงที่มีต่อเนื้อเยื่อของมนุษย์ ต้นตำรับผู้คินค้นเทคโนโลยีแมกเลฟอย่างเยอรมันกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยไว้ว่าจะต้องมีระยะเว้นระหว่างรางและสิ่งก่อสร้างข้างเคียงอย่างน้อย 300 เมตร มาตรฐานจีนลดระยะนี้ให้เหลือครึ่งนึง คือ 150 เมตร แต่จนแล้วจนรอดระยะเว้นที่ว่านี่ในแบบเส้นทางบางช่วงเหลือแค่ 22.5 เมตรเท่านั้น คนก็ออกมาโวยกันดิครับ แปลกดีที่งานนี้รัฐบาลคอมมิวนิสต์ก็มีความเป็นประชาธิปไตย ยอมรับฟังคำร้องจากประชาชนและสั่งระงับการก่อสร้างไว้ก่อน รวมทั้งสั่งทบทวนแนวเส้นทางและแผนการสร้างแม้ว่าอาจจะทำให้ไม่มีระบบรถไฟทันใช้ในงาน World Expo ก็ตาม

ปัญหาอีกขั้นนึงของการออกแบบระบบ ไม่ได้อยู่แค่ที่ประสิทธิภาพและความเร็วของรถไฟ แต่เป็นระบบขนส่งเชื่อมต่อและการจัดการที่สถานีด้วย นักท่องเที่ยวที่มาเยือนเซี่ยงไฮ้อาจจะไม่พลาดการขึ้นแมกเลฟสักครั้ง แต่สำหรับชาวเมืองเองหรือคนที่มาเซี่ยงไฮ้อยู่เป็นประจำ เขาจะเลือกขึ้นแมกเลฟมากกว่านั่งแท็กซี่ล่ะหรือ นักธุรกิจคนหนึ่ง4ลองวิเคราะห์ให้คิดว่าถ้าบ้านเขาอยู่ห่างจากสถานีรถไฟสี่กิโลเมตร การนั่งรถแท็กซี่ไปสถานี เพื่อหอบข้าวของสัมภาระไปรอรถไฟและหอบข้าวของลงจากรถไฟไปเช็คอิน เทียบกับการนั่งรถแท็กซี่ไปสนามบินโดยตรงเลย อย่างหลังดูจะสะดวกและคุ้มค่ากว่า คงเป็นเหตุผลเดียวกันกับที่เราคงไม่ขับรถไปสุวรรณภูมิเพื่อไปยืนต่อแถวรอเช็คอินขึ้นเครื่องไปหัวหินหรืออู่ตะเภา ในอเมริกาก็เลยตั้งข้อกำหนดว่าจะนำระบบแมกเลฟมาพิจารณาสำหรับการเดินทางระหว่างเมืองที่มีระยะทางตั้งแต่ 100 ถึง 600 ไมล์ ซึ่งเขาคิดว่าเป็นระยะทางเป้าหมายที่เหมาะสมกับการลงทุนและความคุ้มค่าของเวลาในการเดินทาง การออกแบบระบบก็ต้องให้ความสำคัญกับผังสถานี การเชื่อมต่อ สิ่งอำนวยความสะดวกและการบริการอื่นๆ ด้วย นี่คงเป็นข้อพิสูจน์อีกครั้งว่าเทคโนโลยีและการจัดการเป็นศาสตร์และศิลป์ต้องพึ่งพาอาศัยกันตลอดเวลา

ตอนนี้หลายๆ ประเทศกำลังศึกษาและออกแบบระบบ นอกจากที่อเมริกาก็ยังมี เยอรมัน ญี่ปุ่น อังกฤษ เวเนซูเอล่า อินเดีย และปากีสถาน รู้สึกเกาหลีจะเปิดระบบระยะทางสั้นๆ ทดลองวิ่งแล้วเหมือนกัน

ระหว่างที่ประเทศจีนกำลังแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งเรื่องรถไฟแมกเลฟเพื่องาน World Expo บ้านเราก็มารอลุ้นรถไฟฟ้าไปสนามบินสุวรรณภูมิไปพลางๆ ก่อนแล้วกัน ปีหน้าจะได้เห็นมั้ยว้า…

แหล่งอ้างอิง
1 Wikipedia
2 Transrapid
3 International Herald Tribune
4 Actual Speed of Maglev

Read Full Post »

shone_resize

อาทิตย์นี้ป่วยๆ เลยไม่ได้ออกไปเจอเรื่องราวข้างนอกมากนัก แต่ก็มีโอกาสได้อ่านหนังสือเล่มนึงชื่อ A Short History of Nearly Everything หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่กูไปเจอตอนไปเที่ยวอังกฤษเมื่อหลายปีก่อน อ่านจบไปประมาณครึ่งเล่ม แล้วก็วางทิ้งไว้บนหิ้งหลายปี วันก่อนจัดบ้านใหม่ เห็นหนังสือเล่มนี้อีกทีเลยหยิบขึ้นมาอ่าน ไม่ได้อ่านต่อหรอก อ่านใหม่ตั้งแต่เริ่มนี่แหละ
Bill Bryson เป็นนักเขียนสารคดีท่องเที่ยวที่มีสไตล์เน้นความบันเทิงไม่เน้นให้ความรู้ เล่มนี้เป็นการพลิกรูปแบบการเขียนของเขา โดยหันมาเป็นเขียนเกี่ยวกับสาระความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นครั้งแรก แล้วมันก็เป็นเล่มที่สร้างชื่อให้เขาให้ออกมาโด่งดังอยู่นอกยุทธจักรวงการหนังสือท่องเที่ยว

Bill ตัดสินใจเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นด้วยความอึดอัดใจว่า ทำไมหนังสือตำราเรียนวิทยาศาสตร์บอกให้เราเชื่อข้อมูลต่างๆ นานา แต่ไม่เคยอธิบายว่าสิ่งที่เราจะต้องเชื่อนั้นมีความเป็นมายังไง เช่น เขารู้ได้ไงว่าข้างในโลกมีชั้นต่างๆ อะไรบ้าง หินร้อนที่แกนกลางมีอุณหภูมิเท่านั้นเท่านี้ ฯลฯ ทั้งๆ ที่เราไม่มีเครื่องมือที่จะขุดเจาะเข้าไปวัด หรือว่าที่บอกกันว่าโลกหนักเท่าไหร่นั่นเอาอะไรมาชั่ง ซึ่งกูว่ากระบวนการค้นหาคำตอบเป็นสิ่งที่น่าสนใจมากกว่าตัวเนื้อหาของมันเองซะอีก

Bill ลงทุนหยุดเขียนหนังสือท่องเที่ยว แล้วใช้เวลาสามปีไปกับการค้นหาคำตอบเหล่านี้ จากตำรับตำราบ้าง เดินทางไปพูดคุยกับอาจารย์และนักวิทยาศาสตร์ตามมหาวิทยาลัยบ้าง ผลผลิตที่ได้จากความอยากรู้อยากเห็นของ Bill กลายเป็นหนังสือเรียนวิทยาศาสตร์ที่เหมือนนิยายเรื่องสนุกเรื่องนึงที่เราสามารถเข้าใจความเป็นมาของ (เกือบจะ) ทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาล ตั้งแต่ Big Bang เป็นต้นมา สองสิ่งที่ทำให้หนังสือเล่มนี้มีความพิเศษคือ ความที่เขาไม่ใช่คนที่มีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์แต่มีความสามารถทางการเขียนหนังสือ มันก็เลยเป็นหนังสือวิทยาศาสตร์ที่ “ย่อยง่าย” และเข้าถึงคนปกติทั่วไป อีกอย่างคือด้วยความเป็นคนช่างคิดของเขา ทำให้เราอ่านและแปลความหมายของวิทยาศาตร์และตัวเลขในมุมมองที่แปลกออกไป อย่างเช่น

 

    ตัวเลขประมาณการของดาวที่สามารถให้กำเนิดอารยธรรมในกาแล็กซี่ทางช้างเผือกน่าจะมีอยู่ในหลักล้าน แต่ระยะห่างเฉลี่ยของแต่ละอารยธรรมจะอยู่ห่างกันประมาณสองร้อยปีแสง เราสรุปอะไรได้บ้าง? Bill สรุปว่าถ้าตอนนี้มีมนุษย์ต่างดาวอีกโลกนึงส่องกล้องกำลังขยายสูงมาที่โลกเรา มันก็ไม่เห็นเรา แต่สิ่งที่มันเห็นก็คงเป็นการปฏิวัติฝรั่งเศส หรือโธมัส เจฟเฟอร์สันใส่ถุงเท้ายาวทำสงครามกลางเมืองอยู่

 

หรือ

 

    ถ้าอยู่ที่ขอบจักรวาลแล้วชะโงกหน้าออกไปข้างนอก พื้นที่ว่างตรงนั้นเรียกว่าอะไร อย่าเพิ่งคิดถามคำถามนั้นเพราะเราจะไม่มีวันไปที่ขอบจักรวาลได้ จักรวาลแม้จะขยายตัวอยู่ตลอดเวลา แต่มันเป็นสิ่งที่ไม่มีขอบ จักรวาลไม่ได้มีลักษณะเป็นสามมิติแต่มีการบิดเบี้ยวไปในลักษณะซับซ้อนเกินกว่ามนุษย์จากโลกสามมิติอย่างเราจะเข้าใจได้ เปรียบเทียบง่ายๆ เหมือนคนที่เชื่อว่าโลกแบนที่พลัดหลงมาอยู่ในโลกทรงกลมใบนี้จะพยายามล่องเรือเพื่อไปหาสุดขอบโลกนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้

 

วันก่อนผ่านไป B2S เห็นฉบับแปลเป็นไทย ใช้ชื่อตรงๆ ว่า “ประวัติย่อของเกือบทุกสิ่ง” ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีถ้าใครสนใจ แต่ขี้เกียจคืบคลานช้าๆ ไปกับฉบับภาษาอังกฤษ แต่ไม่แน่ใจว่าฉบับแปลจะสามารถรักษาอารมณ์ของต้นฉบับได้ดีแค่ไหน เพราะสำนวนลีลาเมามันอย่าง Bill Bryson นี่คงถ่ายทอดยากอยู่

Read Full Post »

วันก่อนมีภาระต้องไปประชุมต่างบ้านต่างเมือง นึกเบื่อบรรยากาศการนั่งรถแท็กซี่ไปสุวรรณภูมิขึ้นมา สำรวจดูข้าวของสัมภาระรอบตัวก็ไม่เหลือบ่ากว่าแรงที่จะดิ้นรนซักหน่อย เลยตัดสินใจอาศัยบริการ ขสมก ที่เหินห่างมานานซะหน่อย กูใช้บริการทั้งขาไปขากลับนั่นแหละ แต่มีแค่ตอนขากลับเท่านั้นที่นึกขึ้นมาได้ว่าน่าจะถ่ายรูปมาฝากกัน

อ่ะ มาดูกัน จากสุวรรณภูมิ กลับบ้านยังไงไม่ต้องจ่ายค่าแท็กซี่แพงๆ ไม่ยากอย่างที่คิด

สมมติว่าวันนี้เป็นวันดี ผ่าน ตม. มาอย่างรวดเร็ว กระเป๋าเราวิ่งมาเป็นใบแรกบนสายพาน เอาล่ะ หยิบกระเป๋าออกมาแล้วใช่มั้ย เดินออกมาเห็นป้ายรถโดยสารเข้าเมืองที่ชี้ให้ลงไปชั้นล่าง ด้านล่างก็เป็นทางเลือกนึงที่จะนั่งรถโดยสารเข้าเมืองได้ แต่มันจะเป็นรถประจำทางแบบ Airport Express ค่าโดยสารร้อยห้าสิบบาทถ้วน มาเปรียบเทียบกันว่าที่กูจ่ายน่ะ ถูกกว่าเท่าไหร่

ขั้นแรกอย่าไปหลงเชื่อป้าย ตั้งสติให้มั่นถ้าไม่อยากจ่ายเงินแพง ไปที่ประตูห้า ชั้นสาม (ผู้โดยสารขาเข้า) หรือชั้นสี่ (ผู้โดยสารขาออก) ก็ได้

cimg3471_resize

ปกติเราจะออกมาจากสนามบินที่ชั้นสาม การเดินตรงไปรอรถที่ประตูห้าของชั้นเดียวกันน่าจะเป็นทางเลือกที่สะดวกที่สุด เคล็ดลับตรงนี้อยู่ที่ ถ้าเป็นช่วงเช้ามืด กรุณาออกแรงซักหน่อย ขึ้นไปรอที่ชั้นสี่แทน เพราะจะไม่ต้องไปแย่งที่นั่งกับกลุ่มคนที่เพิ่งเลิกกะทำงานที่สุวรรณภูมิ

คราวนี้กูเดินขึ้นชั้นสี่ มาออกที่ประตูห้า แล้วก็เจอป้ายรถเวียน (Shuttle Bus) นี่

cimg3472_resize

 

รอไม่กี่นาทีรถก็มาแล้ว

cimg3474_resize

 

รถเวียนนี่จะมาเวียนส่งคนขาออกที่ชั้นสี่ก่อน แล้วก็ลงไปรับคนขาเข้าที่ชั้นสามต่อ รถเวียนเป็นบริการฟรีของสนามบิน เป็นระบบเชื่อมต่อเพื่อขนคนไปที่ Bus Terminal ที่อยู่ห่างออกไปนิดหน่อย

cimg3475_resize

 

มาถึงที่ Bus Terminal

cimg3479_resize 

รถเมล์ปรับอากาศไปสุวรรณภูมิมีหลายสาย อ้างอิงจาก http://th.wikipedia.org/
สาย 549 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ – มีนบุรี – บางกะปิ
สาย 550 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ – แฮปปี้แลนด์
สาย 551 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ – อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
สาย 552 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ – คลองเตย
สาย 553 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ – สมุทรปราการ
สาย 554 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ – ถนนรามอินทรา – อู่รังสิต
สาย 555 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ – ถนนวิภาวดีรังสิต – อู่รังสิต
สาย 556 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ – สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (สายใต้)
สาย 558 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ – ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล สาขาพระราม 2
สาย 559 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ – ถนนรังสิต-นครนายก – อู่รังสิต
หมายเหตุ ใน Wikipedia ก็มีข้อผิดพลาดบ้างนิดหน่อย อย่างค่าโดยสารนี่ไปบอกว่าเป็น 35 บาท หรือสาย 551 ไปถึงพาราก้อน ซึ่งจริงๆ มันสิ้นสุดระยะที่อนุสาวรีย์ชัยฯ เท่านั้น แล้วที่วงเล็บไว้ว่าทางด่วนนี่ก็มากันตามพื้นราบธรรมดาๆ ไม่ได้ใช้บริการการทางพิเศษแต่อย่างใด

กูขึ้นรถคันนี้ เลยถ่ายไว้อีกรูปก่อนขึ้น มียามมาเดินๆ ทำหน้าเข้ม ถามว่าจะถ่ายรูปไปไหน กูบอกว่าจะถ่ายไปอนุสาวรีย์ชัยฯ

cimg3481_resize

 

จุดหมายอนุสาวรีย์ชัยฯ จริงๆ จ่ายไปแค่ 34 บาท ตั๋ว 34 บาทไม่มี ก็เลยต้องใช้ตั๋วสองใบบวกๆ กัน

cimg3487_resize

 

รถก็ใหม่ แอร์ก็เย็น วิ่งก็ไม่ช้าเท่าไหร่ แต่ไม่มีใครใช้บริการ

cimg3482_resize

หนึ่งชั่วโมงต่อมาก็มาถึงอนุสาวรีย์ นั่นคือปริมาณเวลาที่จะต้องเผื่อไว้ ต่อรถไฟฟ้าอีกนิดก็ถึงแล้ว หรือถ้ากูจะเลือกนั่งแท็กซี่ที่นี่ก็ยังถูกและไม่เสียค่า airport charge อีก 50 บาท

ขาไปกูก็ทำแบบเดียวกันในทิศตรงข้ามเท่านั้นแหละ

แปลกที่เมื่อก่อนเราใช้รถเมล์กันโดยที่ไม่ต้องคิดอะไรเลย ขึ้นรถเมล์กลับบ้าน ไปซื้อของ ไปบ้านเพื่อน ไปไหนต่อไหนก็ได้ทั้งเมือง พอมาตอนนี้ทำไมชีวิตมันต้องพึ่งรถส่วนตัวกับแท็กซี่เยอะขนาดนั้นวะ

ไว้ว่างๆ กูจะลองเดินทางโดยระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ ดู แล้วจะกลับมารายงาน

Read Full Post »