Feeds:
Posts
Comments

Posts Tagged ‘เรียนรู้’

ขับรถอยู่เพลินๆ ฟัง ๑๐๗.๕  ดีเจทั้งแนะนำ  ทั้งอธิบายให้ฟังอยู่นานทีเดียว  เห็นว่าเข้าท่าน่าสนใจ  แต่ก็ยังไม่ได้เข้าไปอ่านหรอก  พอรู้แค่ว่าเรื่องราวในหนังสือนั้นประมาณไหน  เขาให้ดาวน์โหลดอ่านได้ฟรีเพื่อขยายแนวคิดนี้ออกไปให้กว้างขวาง

แนวคิดที่ว่า  การตลาดยุคต่อไปจะต้องอยู่ในลักษณะแบบ วินวิน  จะไม่มีใครได้เปรียบใครจนเกินไป  แนวคิดที่ว่าการหวังผลกำไรแต่เพียงถ่ายเดียวไม่อาจสร้างสังคมที่ดีได้

แนวคิดในการยกเลิก “มุสามาร์เก็ตติ้ง” และ “….มาร์เก็ตติ้ง” เหออๆ..จำไม่ได้แหะ  ฟังดูเข้าท่าเข้าทาง  ก็มาขยายต่อเนาะ

เข้าไปโหลดได้เลย  ตามนี้

http://www.dmgbooks.com/site/download/white-ocean/index.html

Read Full Post »

รัฐบาล นักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ ซีอีโอบริษัท รวมถึงวิศวกรตัวเล็กๆ อย่างผมล้วนแล้วแต่ต้องเอาตัวเองเข้ามายุ่งเกี่ยวกับปริมาณที่เรียกว่า จีดีพี อยู่บ่อยครั้ง การศึกษาความเหมาะสมของโครงการพัฒนาอะไรก็แล้วแต่ก็มักจะมาอ้างอิงถึง จีดีพี ราวกับเป็นบทบัญญัติศักดิ์สิทธิ์ที่ทุกคนเห็นแล้วต้องยอมรับ

จีดีพีหรือผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product-GDP) คือมูลค่ารวมทั้งหมดของสินค้าและบริการที่ผลิตขึ้นภายในประเทศ ผลรวมของจีดีพีบ่งบอกถึงปริมาณกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และเกือบทุกประเทศทั่วโลกก็ถือเอาอัตราการเติบโตของจีดีพีเป็นเป้าหมายการพัฒนาความมั่งคั่งของประเทศ

แนวความคิดนี้ถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวางถึงข้อด้อยในหลายด้าน ด้วยความจริงที่ว่า GDP เป็นเพียงแบบจำลองที่อ้างถึงแต่หน่วยเงินตรา แต่ไม่ได้รวมเอากิจกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ไม่ได้คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรบุคคลและทรัพยากรธรรมชาติ ไม่สามารถอธิบายได้ถึงความแตกต่างระหว่างชนชั้น ไม่ว่าใครจะมีเงินมากเงินน้อยก็เอามากองรวมกันไว้เป็นเงิน “ประเทศ” ทั้งหมด รวมทั้งไม่ได้บอกถึงคุณภาพชีวิตของคนและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ

กษัตริย์จิกมี ซิงเย วังชุก พระราชบิดาของกษัตริย์ภูฏานองค์ปัจจุบันเป็นคนที่เสนอแนวความคิดในการพัฒนาประเทศโดยอ้างอิงกับ “ความสุข” ของประชากร ไม่ใช่ความร่ำรวย โดยตั้งอยู่บนหลักการทั้งสี่ ได้แก่ การพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน การอนุรักษ์และส่งเสริมคุณค่าทางวัฒนธรรม การรักษาสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ และธรรมาภิบาล

ความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness – GNH) ถูกคิดค้นขึ้นโดยมีสูตรการคำนวณ

GNH index = 1 – (a1+a2+…..+a72)/72

เมื่อ a1, a2,… a72 คือค่าความสุขในเรื่องต่างๆ มีค่าตั้งแต่ 0 ถึง 1 เพราะฉะนั้นดัชนี GNH นี้คำนึงถึงความสุขในด้านต่างๆ ถึงเจ็ดสิบสองเรื่อง และสูตรนี้ก็มีการพัฒนาต่อเนื่องทุกครั้งที่มีการประชุมนานาชาติของกลุ่มประเทศที่ใช้ GNH เป็นดัชนีชี้วัด โดยครั้งล่าสุดมีการประชุมที่วัดหินหมากเป้ง จังหวัดหนองคาย เมื่อปี 2550 เสียดายที่กลุ่มประเทศที่ยอมรับ GNH มาใช้เป็นกลุ่มประเทศเล็กๆ ในเอเชีย ไม่กี่ประเทศเท่านั้น

จุดอ่อนอย่างนึงของ GNH ที่ถูกยกขึ้นมาเป็นข้อโต้แย้งบ่อยๆ ก็คือเป็นวิธีการให้คะแนนในด้านต่างๆ จากความรู้สึก ไม่มีกฎเกณฑ์ที่แน่นอน ปริมาณความสุขจึงขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน

ทางฝั่งยุโรปและอเมริกาก็จะมีแนวคิดคล้ายๆ กันในการหาสิ่งทดแทนจีดีพี ซึ่งตัวชี้วัดใหม่เหล่านี้ให้ความสำคัญกับความมั่งคั่งน้อยลง แต่คำนึงถึงคุณภาพการดำรงอยู่ของคนและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพียงแต่มีวิธีวัดแตกต่างกันออกไป อย่างเช่น Human Development Index, Satisfaction with Life Index, Genuine Progress Indicator หรือ Happy Planet Index ที่นำเอาต้นทุนที่โลกต้องจ่ายมาคำนวณเป็นส่วนหนึ่งของการวัดประสิทธิภาพ

แต่ละประเทศ แต่ละสถาบันเริ่มออกเดินหาคำตอบกับโจทย์ข้อนี้ในทิศทางที่แตกต่างกัน หรือเป็นเพราะเราออกเดินจากจุดเริ่มต้นที่ไม่เหมือนกัน

แต่ทั้งโลกก็เริ่มดูเหมือนจะแยกย้ายกันออกตามหาสิ่งเดียวกัน

Read Full Post »

shone_resize

อาทิตย์นี้ป่วยๆ เลยไม่ได้ออกไปเจอเรื่องราวข้างนอกมากนัก แต่ก็มีโอกาสได้อ่านหนังสือเล่มนึงชื่อ A Short History of Nearly Everything หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่กูไปเจอตอนไปเที่ยวอังกฤษเมื่อหลายปีก่อน อ่านจบไปประมาณครึ่งเล่ม แล้วก็วางทิ้งไว้บนหิ้งหลายปี วันก่อนจัดบ้านใหม่ เห็นหนังสือเล่มนี้อีกทีเลยหยิบขึ้นมาอ่าน ไม่ได้อ่านต่อหรอก อ่านใหม่ตั้งแต่เริ่มนี่แหละ
Bill Bryson เป็นนักเขียนสารคดีท่องเที่ยวที่มีสไตล์เน้นความบันเทิงไม่เน้นให้ความรู้ เล่มนี้เป็นการพลิกรูปแบบการเขียนของเขา โดยหันมาเป็นเขียนเกี่ยวกับสาระความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นครั้งแรก แล้วมันก็เป็นเล่มที่สร้างชื่อให้เขาให้ออกมาโด่งดังอยู่นอกยุทธจักรวงการหนังสือท่องเที่ยว

Bill ตัดสินใจเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นด้วยความอึดอัดใจว่า ทำไมหนังสือตำราเรียนวิทยาศาสตร์บอกให้เราเชื่อข้อมูลต่างๆ นานา แต่ไม่เคยอธิบายว่าสิ่งที่เราจะต้องเชื่อนั้นมีความเป็นมายังไง เช่น เขารู้ได้ไงว่าข้างในโลกมีชั้นต่างๆ อะไรบ้าง หินร้อนที่แกนกลางมีอุณหภูมิเท่านั้นเท่านี้ ฯลฯ ทั้งๆ ที่เราไม่มีเครื่องมือที่จะขุดเจาะเข้าไปวัด หรือว่าที่บอกกันว่าโลกหนักเท่าไหร่นั่นเอาอะไรมาชั่ง ซึ่งกูว่ากระบวนการค้นหาคำตอบเป็นสิ่งที่น่าสนใจมากกว่าตัวเนื้อหาของมันเองซะอีก

Bill ลงทุนหยุดเขียนหนังสือท่องเที่ยว แล้วใช้เวลาสามปีไปกับการค้นหาคำตอบเหล่านี้ จากตำรับตำราบ้าง เดินทางไปพูดคุยกับอาจารย์และนักวิทยาศาสตร์ตามมหาวิทยาลัยบ้าง ผลผลิตที่ได้จากความอยากรู้อยากเห็นของ Bill กลายเป็นหนังสือเรียนวิทยาศาสตร์ที่เหมือนนิยายเรื่องสนุกเรื่องนึงที่เราสามารถเข้าใจความเป็นมาของ (เกือบจะ) ทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาล ตั้งแต่ Big Bang เป็นต้นมา สองสิ่งที่ทำให้หนังสือเล่มนี้มีความพิเศษคือ ความที่เขาไม่ใช่คนที่มีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์แต่มีความสามารถทางการเขียนหนังสือ มันก็เลยเป็นหนังสือวิทยาศาสตร์ที่ “ย่อยง่าย” และเข้าถึงคนปกติทั่วไป อีกอย่างคือด้วยความเป็นคนช่างคิดของเขา ทำให้เราอ่านและแปลความหมายของวิทยาศาตร์และตัวเลขในมุมมองที่แปลกออกไป อย่างเช่น

 

    ตัวเลขประมาณการของดาวที่สามารถให้กำเนิดอารยธรรมในกาแล็กซี่ทางช้างเผือกน่าจะมีอยู่ในหลักล้าน แต่ระยะห่างเฉลี่ยของแต่ละอารยธรรมจะอยู่ห่างกันประมาณสองร้อยปีแสง เราสรุปอะไรได้บ้าง? Bill สรุปว่าถ้าตอนนี้มีมนุษย์ต่างดาวอีกโลกนึงส่องกล้องกำลังขยายสูงมาที่โลกเรา มันก็ไม่เห็นเรา แต่สิ่งที่มันเห็นก็คงเป็นการปฏิวัติฝรั่งเศส หรือโธมัส เจฟเฟอร์สันใส่ถุงเท้ายาวทำสงครามกลางเมืองอยู่

 

หรือ

 

    ถ้าอยู่ที่ขอบจักรวาลแล้วชะโงกหน้าออกไปข้างนอก พื้นที่ว่างตรงนั้นเรียกว่าอะไร อย่าเพิ่งคิดถามคำถามนั้นเพราะเราจะไม่มีวันไปที่ขอบจักรวาลได้ จักรวาลแม้จะขยายตัวอยู่ตลอดเวลา แต่มันเป็นสิ่งที่ไม่มีขอบ จักรวาลไม่ได้มีลักษณะเป็นสามมิติแต่มีการบิดเบี้ยวไปในลักษณะซับซ้อนเกินกว่ามนุษย์จากโลกสามมิติอย่างเราจะเข้าใจได้ เปรียบเทียบง่ายๆ เหมือนคนที่เชื่อว่าโลกแบนที่พลัดหลงมาอยู่ในโลกทรงกลมใบนี้จะพยายามล่องเรือเพื่อไปหาสุดขอบโลกนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้

 

วันก่อนผ่านไป B2S เห็นฉบับแปลเป็นไทย ใช้ชื่อตรงๆ ว่า “ประวัติย่อของเกือบทุกสิ่ง” ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีถ้าใครสนใจ แต่ขี้เกียจคืบคลานช้าๆ ไปกับฉบับภาษาอังกฤษ แต่ไม่แน่ใจว่าฉบับแปลจะสามารถรักษาอารมณ์ของต้นฉบับได้ดีแค่ไหน เพราะสำนวนลีลาเมามันอย่าง Bill Bryson นี่คงถ่ายทอดยากอยู่

Read Full Post »

ศาสตราจารย์ ดร.ชิจิดะ มาโกโตะ ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองชาวญี่ปุ่น นักวิจัยอีกผู้หนึ่งที่ค้นคว้าเกี่ยวกับวิธีเพิ่มประสิทธิภาพของสมองอย่างต่อเนื่องกว่า 30 ปี เขาค้นพบว่า หากฝึกให้สมองทั้งสองซีกทำงานได้พร้อม ๆ กัน จะทำให้มนุษย์คนนั้นสามารถดึงความเป็นอัจฉริยภาพของตนเองออกมาใช้ได้อย่างไร้ขีดจำกัด และจะดียิ่งขึ้น ถ้าสามารถฝึกสมองทั้งสองซีกได้ตั้งแต่ช่วงอายุ 0 – 6 ขวบ เนื่องจากเป็นช่วงที่สมองมีพัฒนาการรวดเร็วถึงขีดสุด

ศ.ดร.ชิจิดะ มาโคโตะ

ศ.ดร.ชิจิดะ มาโกโตะ

ดร.ชิจิดะ ได้ริเริ่มแนวทางการสอนสไตล์ “ชิจิดะ” คือจะเป็นการฝึกสมองทั้งสองซีกให้ทำงานร่วมกัน และกระตุ้นให้สมองทุกส่วนได้ใช้ประโยชน์สูงสุด เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อของใยประสาทของสมองทั้งสองข้าง โดยกิจกรรมจะขึ้นอยู่กับช่วงอายุ ไม่ยากไม่ง่ายจนเกินไป อาทิตย์หนึ่ง ๆ ใช้เวลาฝึกประมาณ 1 ชั่วโมง ๆ ละ 15 – 20 กิจกรรม เช่นการใช้แฟลชการ์ดที่มีการสลับภาพให้ดูอย่างรวดเร็ว หรือการใช้สื่อการสอนที่กระตุ้นด้านความทรงจำของเด็ก รวมถึงฝึกจินตนาการในการคิดและการสร้างสรรค์โดยอิงจากเรื่องราวในชีวิตจริงที่เป็นธรรมชาติ ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการฝึกสมองซีกขวา

คุณ“คุณชิจิดะ มายูมิ” รองประธาน Shichida Educational Institute ลูกสะใภ้ของ ดร.ชิจิดะ กล่าวว่า “ธรรมชาติของสมองซีกขวาจะจดจำสิ่งต่าง ๆ ได้รวดเร็วกว่ามาก แต่การเรียนการสอนในปัจจุบัน จะใช้การจำผ่านสมองซีกซ้าย ซึ่งต้องคิด วิเคราะห์ก่อน แล้วถึงจะจำ ซึ่งเป็นรูปแบบที่ไม่เหมาะสมกับความสามารถของสมองซีกซ้ายเท่าไร ดังนั้น เด็ก ๆ ก็เลยมักจะลืมได้ง่าย ๆ”   

“สมองซีกขวาเข้ามาทำหน้าที่นี้แทนได้ แต่ก็ต้องคิดหารูปแบบวิธีการจำที่เหมาะสมกับความ รวดเร็วฉับไว ของสมองซีกขวาด้วยเช่นกัน สไตล์ของชิจิดะจึงเป็นการใช้การ์ดรูปภาพ เช่น ภาพธงชาติของประเทศต่าง ๆ มาเปิดสลับให้เด็กดูด้วยความเร็วเหนือกว่าปกติ ซึ่งนอกจากเด็กจะจำภาพธงชาติของประเทศต่าง ๆ ได้แล้ว ยังเป็นการฝึกสมองซีกขวาไปด้วยในตัว”

นอกจากนี้ ดร.ชืจืดะยังแนะนำวิธีการเลี้ยงดูเด็กว่า มี 3 สิ่งที่สำคัญ คือ ความรัก ความเข้มงวด และ ความเชื่อใจวางใจ

แสดงความรักทั้งโดยตรง เช่นการกอด การพูดจา หรือ โดยนัยด้วยวิธีต่างๆ

การเข้มงวดคือการบอกให้เด็กรู้ และ เข้าใจว่าสิ่งใดควรทำ หรือ ไม่ควรทำ ถ้าเด็กทำผิด แต่พ่อแม่ไม่มีแก้ไขหรือตักเตือน จิตใจของเด็กก็จะเติบโตขึ้นไปในทิศทางที่ผิดพลาดยิ่งๆขึ้น ที่สำคัญ เวลาโกรธ หรือ ลงโทษ ให้โกรธที่การกระทำ ไม่ใช่ตัวบุคคล

ความเชื่อใจวางใจ ดูว่าเด็กสามารถทำได้ หรือไม่สามารถทำได้หรือเปล่า? การเลี้ยงดูเด็กนั้นควรจะยอมรับในทุกสิ่งทุกอย่างที่ประกอบเป็นตัวเด็กขึ้นมา สิ่งสำคัญที่สุดก็คือควรจะสื่อให้เด็กรู้ว่า “แค่หนู(ชื่อเด็ก)อยู่ที่นี่ พ่อกับแม่ก็มีความสุขมากแล้ว” ไม่ใช่เอาแต่คาดหวังว่าเด็กจะทำอะไรได้หรือไม่ได้เท่านั้น

เรียบเรียงจาก http://www.manager.co.th และ board.raklukefamilygroup.com

หากสนใจลองอ่านต่อกันดูนะ

“ชิจิดะ” พัฒนาสมองทั้งสองซีก สไตล์ญี่ปุ่น
สถาบันชิจิดะ (ประเทศไทย)

สิ่งสำคัญสามสิ่งในการเลี้ยงดูลูก

 

Read Full Post »