Feeds:
Posts
Comments

Posts Tagged ‘วิทยาศาสตร์’

shone_resize

อาทิตย์นี้ป่วยๆ เลยไม่ได้ออกไปเจอเรื่องราวข้างนอกมากนัก แต่ก็มีโอกาสได้อ่านหนังสือเล่มนึงชื่อ A Short History of Nearly Everything หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่กูไปเจอตอนไปเที่ยวอังกฤษเมื่อหลายปีก่อน อ่านจบไปประมาณครึ่งเล่ม แล้วก็วางทิ้งไว้บนหิ้งหลายปี วันก่อนจัดบ้านใหม่ เห็นหนังสือเล่มนี้อีกทีเลยหยิบขึ้นมาอ่าน ไม่ได้อ่านต่อหรอก อ่านใหม่ตั้งแต่เริ่มนี่แหละ
Bill Bryson เป็นนักเขียนสารคดีท่องเที่ยวที่มีสไตล์เน้นความบันเทิงไม่เน้นให้ความรู้ เล่มนี้เป็นการพลิกรูปแบบการเขียนของเขา โดยหันมาเป็นเขียนเกี่ยวกับสาระความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นครั้งแรก แล้วมันก็เป็นเล่มที่สร้างชื่อให้เขาให้ออกมาโด่งดังอยู่นอกยุทธจักรวงการหนังสือท่องเที่ยว

Bill ตัดสินใจเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นด้วยความอึดอัดใจว่า ทำไมหนังสือตำราเรียนวิทยาศาสตร์บอกให้เราเชื่อข้อมูลต่างๆ นานา แต่ไม่เคยอธิบายว่าสิ่งที่เราจะต้องเชื่อนั้นมีความเป็นมายังไง เช่น เขารู้ได้ไงว่าข้างในโลกมีชั้นต่างๆ อะไรบ้าง หินร้อนที่แกนกลางมีอุณหภูมิเท่านั้นเท่านี้ ฯลฯ ทั้งๆ ที่เราไม่มีเครื่องมือที่จะขุดเจาะเข้าไปวัด หรือว่าที่บอกกันว่าโลกหนักเท่าไหร่นั่นเอาอะไรมาชั่ง ซึ่งกูว่ากระบวนการค้นหาคำตอบเป็นสิ่งที่น่าสนใจมากกว่าตัวเนื้อหาของมันเองซะอีก

Bill ลงทุนหยุดเขียนหนังสือท่องเที่ยว แล้วใช้เวลาสามปีไปกับการค้นหาคำตอบเหล่านี้ จากตำรับตำราบ้าง เดินทางไปพูดคุยกับอาจารย์และนักวิทยาศาสตร์ตามมหาวิทยาลัยบ้าง ผลผลิตที่ได้จากความอยากรู้อยากเห็นของ Bill กลายเป็นหนังสือเรียนวิทยาศาสตร์ที่เหมือนนิยายเรื่องสนุกเรื่องนึงที่เราสามารถเข้าใจความเป็นมาของ (เกือบจะ) ทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาล ตั้งแต่ Big Bang เป็นต้นมา สองสิ่งที่ทำให้หนังสือเล่มนี้มีความพิเศษคือ ความที่เขาไม่ใช่คนที่มีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์แต่มีความสามารถทางการเขียนหนังสือ มันก็เลยเป็นหนังสือวิทยาศาสตร์ที่ “ย่อยง่าย” และเข้าถึงคนปกติทั่วไป อีกอย่างคือด้วยความเป็นคนช่างคิดของเขา ทำให้เราอ่านและแปลความหมายของวิทยาศาตร์และตัวเลขในมุมมองที่แปลกออกไป อย่างเช่น

 

    ตัวเลขประมาณการของดาวที่สามารถให้กำเนิดอารยธรรมในกาแล็กซี่ทางช้างเผือกน่าจะมีอยู่ในหลักล้าน แต่ระยะห่างเฉลี่ยของแต่ละอารยธรรมจะอยู่ห่างกันประมาณสองร้อยปีแสง เราสรุปอะไรได้บ้าง? Bill สรุปว่าถ้าตอนนี้มีมนุษย์ต่างดาวอีกโลกนึงส่องกล้องกำลังขยายสูงมาที่โลกเรา มันก็ไม่เห็นเรา แต่สิ่งที่มันเห็นก็คงเป็นการปฏิวัติฝรั่งเศส หรือโธมัส เจฟเฟอร์สันใส่ถุงเท้ายาวทำสงครามกลางเมืองอยู่

 

หรือ

 

    ถ้าอยู่ที่ขอบจักรวาลแล้วชะโงกหน้าออกไปข้างนอก พื้นที่ว่างตรงนั้นเรียกว่าอะไร อย่าเพิ่งคิดถามคำถามนั้นเพราะเราจะไม่มีวันไปที่ขอบจักรวาลได้ จักรวาลแม้จะขยายตัวอยู่ตลอดเวลา แต่มันเป็นสิ่งที่ไม่มีขอบ จักรวาลไม่ได้มีลักษณะเป็นสามมิติแต่มีการบิดเบี้ยวไปในลักษณะซับซ้อนเกินกว่ามนุษย์จากโลกสามมิติอย่างเราจะเข้าใจได้ เปรียบเทียบง่ายๆ เหมือนคนที่เชื่อว่าโลกแบนที่พลัดหลงมาอยู่ในโลกทรงกลมใบนี้จะพยายามล่องเรือเพื่อไปหาสุดขอบโลกนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้

 

วันก่อนผ่านไป B2S เห็นฉบับแปลเป็นไทย ใช้ชื่อตรงๆ ว่า “ประวัติย่อของเกือบทุกสิ่ง” ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีถ้าใครสนใจ แต่ขี้เกียจคืบคลานช้าๆ ไปกับฉบับภาษาอังกฤษ แต่ไม่แน่ใจว่าฉบับแปลจะสามารถรักษาอารมณ์ของต้นฉบับได้ดีแค่ไหน เพราะสำนวนลีลาเมามันอย่าง Bill Bryson นี่คงถ่ายทอดยากอยู่

Read Full Post »