Feeds:
Posts
Comments

Archive for July, 2010

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธธัสสะ

ขอบนอบน้อม แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง

เนื่องในวันมหาบูชาเดือนอาสาฬหะ ข้าพเจ้า จักขอรวบรวมรจนา ที่มาของวันสำคัญนี้

เพื่อเป็นรัตนบูชา

——————————————————————————————-

หลังจากที่เจ้าชายสิทธัสถะ ได้บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ อุบัติเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นในโลก เมื่อวันเพ็ญเดือนวิสาขะ (เดือน ๖) ๔๕ ปีก่อนพุทธศักราช พระองค์ทรงเสวยวิมุติสุข คือ สุขแห่งการหลุดพ้นจากกิเลส (รวมทั้งสุขอันเกิดจากการบรรลุผลสำเร็จจากการเพียรบำเพ็ญมาเนิ่นนานนับประมาณเวลามิได้) โดยมิได้บริโภคอาหารใดๆ อยู่ถึง ๔๙ วัน ระหว่างนั้นพระองค์ได้ทบทวนธรรมต่างๆที่ได้ตรัสรู้  ทรงท้อพระทัยว่า “ธรรมอันเราตรัสรู้นี้เป็นสิ่งที่คนทั่วไป ผู้ถูกราคะ โทสะครอบงำอยู่ จะไม่สามารถมองเห็นได้โดยง่าย  คนที่ถูกราคะย้อมไว้ ถูกกองมืด (คืออวิชชา) หุ้มไว้จนมิดทั้งหลาย ย่อมไม่สามารถที่จะเข้าใจธรรมะของเราที่เป็นสิ่งทวนกระแส (อวิชชา) ที่มีสภาพลึกซึ้ง ละเอียดเช่นนี้ได้เลย” แต่เมื่อได้พินิจต่อไป ก็ทรงตรวจสัตว์ทั้งหลายด้วยพระญาณ เห็นว่าสัตว์ที่พอจะรู้ตามธรรมอันนี้ได้ยังพอมีอยู่ จึงได้ตัดสินใจที่จะประกาศธรรม (จุดนี้สำคัญยิ่ง เพราะเพียงพระองค์ตัดสินใจไม่ประกาศธรรม ก็จะเป็นเพียงพระปัจเจกพุทธเจ้า ซึ่งพ้นทุกข์เพียงลำพัง และดำรงค์อยู่อย่างสบายๆ สัตว์ทั้งหลายก็จะมืดบอดต่อไปอีกไม่รู้นานเท่าใด แต่ด้วยพระมหากรุณายิ่งของพระพุทธเจ้า จึงยอมลำบาก ที่จะประกาศธรรม เพื่อขนรื้อสัตว์ที่กิเลสหนาทั้งหลายให้พ้นทุกข์ไปด้วย)

เมื่อตัดสินใจเช่นนั้นแล้ว พระพุทธองค์ทรงพิจารณาดูว่า ผู้ใดที่มีภูมิธรรมที่พอจะรู้ตามได้ และเหมาะสมที่จะทรงไปโปรดก่อน ทรงระลึกถึงอาจารย์ของท่าน คือ อาฬารดาบสกาลามโคตร และ อุทกดาบสรามบุตร  แต่ก็มาทราบว่าท่านทั้งสองสิ้นไปก่อนเสียแล้ว จึงเห็นว่าควรไปแสดงธรรมแก่ ปัญจวัคคีย์ ที่เคยอุปปัฐฐาก พระองค์แต่ครั้งที่เคยบำเพ็ญทุกรกิริยา พระองค์จึงออกเดินทางมุ่งไปหาปัจจวัคคี การเดินทางนั้นมิใช่โดยง่าย ต้องฝ่าแดด ฝ่าฝน เดินเท้าถึง ๑๑ วัน (ระยะทางประมาณ ๒๖๐ กม.)

ปัญจวัคคีย์ อันได้แก่ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ ทั้งห้าเป็นชาวกบิลพัสดุ์ เมื่อครั้งเจ้าชายสิทธัสถะประสูต โกณฑัญญะได้ทำนายไว้ว่า เจ้าชายจะได้ตรัสรู้ธรรมเป็นศาสดาผู้จะนำพาสัตว์ทั้งหลายให้พ้นทุกข์ เมื่อทราบว่าเจ้าชายสิทธัสถะได้ออกบวช จึงได้ร่วมกับนักบวชอีกสี่คนไปช่วยปรนนิบัติดูแลเจ้าชาย โดยหวังว่าจะได้รับฟังพระธรรมหากเจ้าชายตรัสรู้ แต่ภายหลังเมื่อเห็นว่าเจ้าชายเลิกบำเพ็ญทุกรกิริยา ก็คิดว่าพระองค์คงล้มเลิกการแสวงหาเสียแล้ว รู้สึกผิดหวังนักจึงหนีจากไป

เย็นวัน ๑๔ ค่ำเดือนอาสาฬะ พระพุทธองค์ทรงบรรลุถึงยังที่พำนักของปัญจวัคคี

ปัญจวัคคีย์ได้เห็นพระพุทธเจ้ามาแต่ไกล ต่างรังเกียจว่า “เจ้าชายสิทธัตถะผู้ได้เลิกการบำเพ็ญทุกขกิริยาหันมาเสวยอาหารเป็นผู้หมดโอกาสบรรลุธรรมได้เสด็จมา นี่คงจะมาหลอกให้เราตามไปรับใช้อีกเป็นแน่ อย่างกระนั้นเลย พวกเราไม่พึงอภิวาท ไม่พึงลุกขึ้นต้อนรับพระองค์ ไม่พึงรับบาตรจีวรของพระองค์ แต่พึงวางอาสนะไว้ ถ้าพระองค์ปรารถนาจะนั่งก็จักประทับนั่งเองเถอะ” แต่เมื่อพระพุทธองค์เสด็จถึง ด้วยพระพุทธลักษณะอันงามสง่าน่าเลื่อมใส ปัญจวัคคีย์ก็อดให้การต้อนรับมิได้ แต่ยังคงก้มหน้านิ่งไม่ยอมปราศัยด้วย พระพุทธองค์ทรงทราบถึงวาระจิตของปัญจวัคคี จึงตรัสว่า “บัดนี้ตถาคตเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบแล้ว ท่านทั้งหลายจงสดับฟังเถิด เราจักบอกสอนอมตธรรมอันเราบรรลุแล้ว เมื่อท่านทั้งหลายปฏิบัติตามที่เราสั่งสอนอยู่ ไม่ช้าเท่าไรก็จักทำให้แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์ อันไม่มีธรรมอื่นยิ่งไปกว่า” ทีแรกปัญจวัคคีย์ก็หาเชื่อไม่ ต่างทักท้วงถึง ๓ ครั้ง ว่า “แม้ครั้งที่พระองค์ยังมีปฏิปทา ปฏิบัติด้วยทุกรกริยานั้น ยังไม่สามารถบรรลุธรรมวิเศษอันใดได้ มาตอนนี้คลายความเพียรกลายเป็นคนมักมากเสียแล้ว ไฉนจักบรรลุอุตตริมนุสสธรรม บรรลุธรรมอันประเสริฐได้เล่า” พระพุทธองค์จึงตรัสว่า “ก่อนหน้านี้มีที่เราเคยพูดปดต่อท่านหรือไม่ และ ได้เคยกล่าวว่าเราได้ตรัสรู้แล้วหรือไม่” ปัญจวัคคีย์จึงระลึกได้ว่าพระองค์ไม่เคยกล่าวเท็จ และ ไม่เคยเลยที่จะบอกว่าทรงตรัสรู้แล้ว จึงใจอ่อนลง หันมาสนทนาด้วยพระพุทธองค์ พระองค์จึงบอกว่า วันเพ็ญสิบห้าค่ำพรุ่งนี้ เราจักประกาศธรรมอันเราตรัสรู้แล้วแก่ท่านทั้งหลาย

ครั้นถึงคืนวันเพ็ญเดือนอาสาฬะ ณ ป่าอิสิปัตนมฤคทายวัน พระพุทธองค์จึงทรงประกาศธรรมอันได้รู้แก่โลกเป็นครั้งแรก พระธรรมอันพระพุทธองค์ประกาศนั้นคือ “ธรรมจักรกัปปวัตตนสูตร” หรือ ธรรมอันยังให้กงล้อแห่งธรรมเริ่มหมุนไป พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า “ตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมมาสัมพุทธเจ้า จักได้ประกาศอนุตตรธรรมจักรให้เป็นไป เป็นธรรมจักรที่แม้สมณะพราหมณ์ เทพ มาร พรหม หรือผู้ใด ในโลก ก็จักต้านทานให้หมุนกลับมิได้ (คือความจริงที่ไม่มีผู้ใดปฏิเสธได้)”

ธรรมอันพระพุทธองค์ทรงแสดงนั้น มีใจความสำคัญสองประการ หนึ่งคือการปฏิบัติในทางสายกลาง และ สองคืออริยสัจ ๔

(ผู้เขียนขอคัดลอกจากธรรมจักรกัปปวัตนสูตรมาดังนี้)

ผู้ออก บวชแสวงหาความหลุดพ้น ไม่ควรปฎิบัติตน ในทางสุดโต่ง ๒ ประการ คือ

๑ การแสวงหาความสุขทางกามคุณ (กามะสุขัลลิกานุโยค) ซึ่งทำให้จิตใจต่ำทราม เป็นเรื่องของชาวบ้านที่มีความใคร่ เป็นเรื่องของคนมีกิเลสหนาไม่ใช่เป็นสิ่งประเสริฐ คือ มีแต่จะก่อให้เกิดข้าศึกคือกิเลส ไม่มีสาระประโยชน์อันใด

๒ การปฏิบัติตนแบบก่อให้เกิดความทุกข์ทรมาน เป็นสภาวะที่ทนได้ยาก (อัตตะกิละมะถานุโยโค) ไม่ใช่สิ่งประเสริฐ คือ มีแต่จะก่อให้เกิดข้าศึก คือ กิเลสไม่มีสาระประโยชน์อันใด

หลัก ปฏิบัติอันเป็น ทางสายกลาง หลีกเลี่ยงจากการปฏิบัติแบบสุดโต่ง ซึ่งเราตถาคตได้ตรัสรู้แล้ว ด้วยปัญญาอันยวดยิ่ง เห็นได้ด้วยตาใน รู้ด้วยญาณภายใน เป็นไปเพื่อความสงบกิเลส เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้อย่างทั่วถึง เพื่อความดับกิเลสและกองทุกข์ ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘

อริยสัจ ๔ หรือ ความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ ซึ่งหากเข้าใจได้อย่างถ่องแท้แล้วจะนำสัตว์นั้นให้หลุดพ้นจากวัฏฏสงสารได้ อริยสัจนั้นได้แก่ ทุกขอริยสัจ (ทุกข์คืออะไร), สมุหทัยอริยสัจ (เหตุแห่งทกข์คืออะไร), นิโรธอริยสัจ (ภาวะที่ไม่มีทุกข์เป็นอย่างไร), และมรรคอริยสัจ (หนทางสู่นิโรธ หรือ การดับทุกข์ คืออะไร)

ทุกข์คืออะไร ?

การเกิด แก่ เจ็บ ตาย ล้วนแต่ เป็นทุกข์ ความโศรกเศร้าเสียใจ ความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายกายไม่สบายใจ ความคับแค้นใจก็เป็นทุกข์ การประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ พลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ปราถนาสิ่งใด ไม่ได้สิ่งนั่นก็เป็นทุกข์ ว่าโดยย่อ การยึดมั่นถือมั่นในเบญจขันธ์ (คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) ว่าเป็น อัตตา เป็นตัวเรา นั้นคือทุกข์

สาเหตุแห่งทุกข์คืออะไร ?

เหตุอันยังให้เกิดทุกข์ เรียกว่า สมุหทัย คือ ตัณหา หรือ ความทะยานอยาก ทำให้ต้องเวียนว่ายตายเกิด เป็นไปด้วยความกำหนัด ด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน หลงระเริงในสิ่งนั้นๆ ตัณหามี ๓ ประการ ได้แก่

(1) ความอยากในกาม คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสต่างๆ (กามตัณหา)

(2) ความอยากได้ อยากมี อยากเป็น (ภวตัณหา)

(3) ความไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น (วิภวตัณหา)

การดับทุกข์เป็นอย่างไร ?

นิโรธ คือ ความดับทุกข์อย่างแท้จริง คือ ดับความกำหนัดอย่างสิ้นเชิง สละสิ้นตัณหา

จะไปสู่การดับทุกข์ได้อย่างไร ?

ทุกขโรธ คามินีปฏิปทาอริยสัจ คือ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์อย่างแท้จริง คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่ (๑) ความเห็นชอบ (๒) ความดำริชอบ (๓) วาจาชอบ (๔) การงานชอบ (๕) เลี้ยงชีวิตชอบ (๖) ความเพียรชอบ (๗) ความระลึกชอบ (๘) ความตั้งจิตชอบ

การตรัสรู้อริยสัจนี้ พระองค์มิได้เคยได้ยินจากผู้ใดมาก่อน แลมิใช่การรู้ในระดับสามัญ แต่พระองค์ทรงหยั่งรู้ แต่ละอริยสัจทั้ง ๓ รอบ รวมมีอาการ ๑๒ ได้แก่ ๑. หยั่งรู้อริยสัจ แต่ละอย่างตามความเป็นจริง (รู้จักและเข้าใจ) ๒. หยั่งรู้กิจของอริยสัจ (รู้ว่าต้องปฏิบัติอย่างไร) ๓. หยั่งรู้กิจอันได้ทำแล้ว (รู้ว่าได้ทำสำเร็จแล้ว) ในอริยสัจ ๔ อย่างหมดจดแจ่มแจ้ง เมื่อได้การหยั่งรู้ การเห็นตามความเป็นจริงดังกล่าวมาหมดจดดีแล้ว เมื่อนั้นจึงได้ยืนยันตนว่าเป็นผู้ตรัสรู้โดยชอบ

พระองค์จึงตรัสว่า “การหยั่ง รู้ การเห็นตามความเป็นจริงได้เกิดขึ้นแก่เราแล้ว ความหลุดพ้นของเราไม่มีการกลับกำเริบอีก ชาตินี้จักเป็นชาติสุดท้าย ไม่มีการเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป”

บัดนั้นพระธรรมจึงได้ปรากฏต่อโลกเป็นครั้งแรก

แลเมื่อได้ฟังพระธรรมจากพระพุทธองค์แล้ว ผู้เฒ่าโกญฑัญญะ ได้เกิดปัญญา มีดวงตาเห็นธรรม (ได้รู้แจ้งเห็นจริงซึ่งพระธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดง ) พระพุทธองค์ทรงหยั่งรู้ในวาระจิตนั้นจึงตรัสว่า ““อัญฺญาสิ วะตะ โภ โกณฑัญโญ อัญฺญาสิ วะตะ โภ โกณฑัญโญ” ซึ่งแปลว่า “โกณฑัญญะ ได้รู้แล้วหนอ โกณทัญญะ ได้รู้แล้วหนอ” โกญฑัญญะจึงได้ทูลขอบวชเป็นภิกษุ ซึ่งพระพุทธองค์ก็ทรงบวชให้ (ภายหลังพระโกญฑัญญะ จึงได้สมญาว่า อัญญาโกณฑัญญะ) ได้บังเกิดมีพระสงฆ์ขึ้นเป็นครั้งแรก

แลเจ้าชายสิทธัสถะ จึงได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า (คือ ผู้สามารถตรัสรู้ได้ด้วยตนเอง ทั้งยังสามารถสอนให้ผู้อื่นรู้ตามได้) โดยสมบูรณ์ในกาลนั้นเอง

ในคืนวันเพ็ญเดือนอาสาฬะ เดียวกันนี้ เมื่อ ๒๕๙๘ ปีก่อน พระพุทธองค์ได้ทรงประกาศพระธรรม อันเป็นการหมุนธรรมจักร (หรือ กงล้อแห่งธรรม อันประกอบด้วยกงล้อทั้งแปด คือ มรรคองค์ ๘) เพื่อยังสรรพสัตว์ทั้งให้ข้ามเสียซึ่งกองทุกข์ หลุดพ้นจากวัฏฏะสงสาร นับว่าเป็นวันพระธรรม อีกทั้งเป็นวันที่พระรัตนตรัยครบองค์สาม คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นครั้งแรกอีกด้วย

Read Full Post »

แวะไปกินข้าวร้านอร่อยแถวบ้าน เจอคอลัมน์อันหนึ่ง เขียนโดยคุณจิรพรรณ อังศวานนท์ ในนสพ.คมชัดลึก กล่าวถึงหนังสือชื่อ “Music 3.0” ของ Bobby Owsinski ว่าด้วยเรื่องยุคต่างๆของดนตรีป๊อป ในช่วงที่ผ่านมา (ประมาณตั้งแต่ยุคเริ่มมีแผ่นเสียง) จนถึงปัจจุบัน (แอบทำนายแนวโน้มในอนาคตอันใกล้ด้วย) น่าสนใจดี จึงขอเก็บมาเล่าเท่าที่พอจำได้นะ

เขาว่าวงการดนตรีสมัยใหม่ นับตั้งแต่เริ่มมีการบันทึกเสียงลงแผ่นเสียง เรียกว่ายุค Music 1.0 หรือ “Artist and Repertoire” (ประมาณยุค 50 – 60) ดนตรีถูกเผยแพร่อย่างกว้างขวางด้วยผ่านทางวิทยุ ซึ่งเป็นสื่อยอดนิยมขณะนั้น ส่วนมากจะออก Single กัน ถ้าได้รับความนิยมมากๆ จึงจะรวมเป็นอัลบั้ม ผู้จัดหาศิลปินและสถานีวิทยุมีอิทธิพลอย่างมาก จนมีการจ้างให้เปิดเพลง (ตอนนี้ก็ยังมีอยู่) เรียกว่าใครอยากดังต้องหาทางทำแผ่นเสียงแล้วออกทางวิทยุ

ยุคที่สอง คือ Music 1.5 (ประมาณยุค 70 – 80) ธุรกิจดนตรีเติบโตรุ่งเรืองอย่างมาก เกิดเป็นค่ายเพลงมากมาย ต่างร่ำรวยไปตามๆกันจนถึงกับเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ เข้าตลาดหลักทรัพย์ (เมืองไทยก็เหมือนกัน) วงการดนตรีจึงกลายเป็นแหล่งลงทุนสุดฮ็อต ดึงดูดนักธุรกิจใส่เสื้อนอกทั้งหลายให้เข้ามาเทคโอเวอร์กันมากมาย เรียกว่ายุค “The Suits Take Over” เกิดเป็นอุตสาหกรรมดนตรีที่ศิลปินเป็นสินค้าที่ต้องปั้นให้รุ่งโด่งดังโดยเร็ว รวมทั้งทีวีก็เป็นที่แพร่หลายแล้ว จึงมีการผลิตมิวสิควีดิโอ เพื่อโปรโมท กลายเป็นการกำเนิด MTV ในเวลาต่อมา เพลงดังต่างๆออกมาอย่างรวดเร็ว ทำให้แทนที่จะทำเป็น Single ก็ออกมาทีเป็นอัลบั้มไปเลย เรียกว่าทำทีเดียวหลายๆเพลง แล้วขายรวบไปเลย เพราะมั่งไม่เพราะมั่งก็เหมารวมกันไป

ยุคที่สาม Music 2.0 (ยุค 90) โลกก้าวสู่ยุคดิจิตอล (Enter Digital Age) วิทยาการคอมพิวเตอร์ก้าวหน้า กำเนิดมี MP3 ขึ้น ทำให้แผ่นเสียง และเทปคาสเส็ตต่างๆจางหายไป บริษัทค่ายเพลงต่างๆก็ได้รับผลกระทบอย่างมาก จนปิดกิจการไปหลายราย ค่ายใหญ่ก็รายได้ลดลง เพราะเพลงก๊อบกันและเผยแพร่ง่ายดายมาก โดยเฉพาะเมื่ออินเตอร์เน็ตแพร่หลาย ยิ่งมีการ Download เพลงกันมโหฬาร

ยุคที่สี่ Music 2.5 (ยุค 2000) หลังจากถูกโจมตีจาก MP3 อย่างหนักทางค่ายเพลงต่างๆ ก็ปรับตัวโดยมีการป้องกันการก็อปปี้ โดยวิธีต่างๆ และ ไหนๆก็โหลดเพลงกันนัก ก็ผันตัวไปขายเพลงผ่านเน็ตกันเสียเลย โดยเน้นขายเป็นรายเพลง ราคาก็ไม่แพงนัก ความนิยมเพลงแบบ Single จึงกลับมาอีกครั้ง โดยเฉพาะเมื่อมีผู้ให้บริการอย่าง iTune Store เกิด ทำให้การขายเพลงผ่านทางอินเตอร์เน็ตเติบโตอย่างรวดเร็วมาก

ยุคที่ห้า Music 3.0 คือยุคปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ เนื่องจากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ทั้งอินเตอร์เน็ต เว็บไซต์ โปรแกรมทำเพลง รวมทั้งฮาร์ดแวร์ต่างๆพัฒนาไปมาก และราคาก็พอซื้อหากันได้ แถมคุณภาพก็เรียกว่า ทำเพลงกันที่บ้านเองได้เลย ทำให้ความจำเป็นที่ต้องพึ่งห้องบันทึกเสียง และ ค่ายเพลงใหญ่ๆลดลงมาก ศิลปินสามารถทำเพลงเอง และเผยแพร่ หรือ ขายเพลงเองผ่านทางพื้นที่ส่วนตัวในอินเตอร์เน็ตได้เลย

เขาว่าอย่างนี้ สนใจจะทำค่ายเพลงเล็กๆกันเอง ขายเองมั่งไหมท่าน

Read Full Post »

นานๆได้นั่งดูเพลงต่างๆทางทึีวีสักที  เออ…อันนี้มันทำสนุกแฮะ  ฟังแต่บีทตาก็ดูภาพ  ดูแล้วนึกถึงเพื่อนๆ เอามาแชร์ดีกว่า  ว่าแล้วก็คว้ากระดาษมาจดชื่อเพลง  ไม่ได้ทำอย่างงี้มานานมากแล้ว

นั่นหนะ เหวินเซียะเอ๋อ ใช่มั้ยอ่ะ

Read Full Post »

ได้ข้อมูลรู้จักจากปองอีกเหมือนกัน  วงรุ่นเก๋า รวมตัวด้วยคนเบื้องหลังรุ่นใหญ่  นักแต่งเพลง โปรดิวเซอร์ นักเรียบเรียง นักดนตรี ดูรายนามเอา

หลายๆคนผลงานมากมายก่ายกอง  ตั้งแต่เรามอต้นเลยทีเดียว…

เป๋า-กมลศักดิ์ สุนทานนท์ (Lead Vocal)
ตุ่น-พนเทพ สุวรรณะบุณย์ (Nylon Guitar)
เต้ง-ธนิต เชิญพิพัฒนสกุล (Drums)
พง-อิศรพงศ์ ชุมสาย ณ อยุธยา (Keyboard)
ป้อม-เกริกศักดิ์ ยุวะหงษ์ (Percussion)
แตน-เศกสิทธิ์ ฟูเกียรติสุทธิ์ (Keyboard)
ตู๋-ปิติ ลิ้มเจริญ (Acoustic Guitar)
เก่ง-เทอดไทย ทองนาค (Electric Guitar)
โอ-ศราวุธ ฤทธิ์นันท์ (Bass)

featuring น้อง แคล … มีภาคภาษาไทยชื่อเพลง สายลม เนาะ คุณน้อง แคล แกร้องดีจริงๆ…เฮ้อ

อ้าว…มีเพลงนี้ก็น่าสนใจ Sinner In a Way

อุดมด้วยยูทูป  ขี้เกียจทำอะไรเนื้อหาเยอะๆแล้ว ว่ากันตามสภาพเนาะ

Read Full Post »

มีโอกาสได้ร่วมงานดนตรีการกุศล ตามชื่องานที่เขียนขี้นหัวไว้ (ได้ขึ้นเวทีสกาล่าแล้วเว้ย)

คราวที่แล้วที่เขียนถึงนักร้องท่านนี้ เรื่องราวคราวนั้นเกิดที่ลานหน้า ป.ต.ท. หลายปีที่แล้ว ก็นึกไม่ถึงว่าวันนึงจะได้มีโอกาสร่วมเวทีกับเธอ

ทั้งที่ไม่ค่อยจำเป็นนักเพราะเธอคนเดียวก็เอาอยู่อยู่แล้ว  ความประทับใจเพิ่มขึ้นเพราะเธอขำมาก ขำแบบนิ่งๆ…

ลองนึกดูสิ ได้นั่งอยู่ข้างๆ ฟัีงเสียงร้องระดับนี้ แล้วได้หันลงไปมองผู้ชมอินกับเสียงเธอ  เอ…จริงๆไอ้เราก็เล่นมาหลายงานแล้วหนอ  ก็เลยชินกะนักร้องใกล้ตัวไปเสียแล้ว  มีอย่างนี้บ้างก็ดีเนาะสีสันสนุกดี  รัก ณ สยาม

Read Full Post »