Feeds:
Posts
Comments

Posts Tagged ‘วัฒนธรรม’

รัฐบาล นักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ ซีอีโอบริษัท รวมถึงวิศวกรตัวเล็กๆ อย่างผมล้วนแล้วแต่ต้องเอาตัวเองเข้ามายุ่งเกี่ยวกับปริมาณที่เรียกว่า จีดีพี อยู่บ่อยครั้ง การศึกษาความเหมาะสมของโครงการพัฒนาอะไรก็แล้วแต่ก็มักจะมาอ้างอิงถึง จีดีพี ราวกับเป็นบทบัญญัติศักดิ์สิทธิ์ที่ทุกคนเห็นแล้วต้องยอมรับ

จีดีพีหรือผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product-GDP) คือมูลค่ารวมทั้งหมดของสินค้าและบริการที่ผลิตขึ้นภายในประเทศ ผลรวมของจีดีพีบ่งบอกถึงปริมาณกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และเกือบทุกประเทศทั่วโลกก็ถือเอาอัตราการเติบโตของจีดีพีเป็นเป้าหมายการพัฒนาความมั่งคั่งของประเทศ

แนวความคิดนี้ถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวางถึงข้อด้อยในหลายด้าน ด้วยความจริงที่ว่า GDP เป็นเพียงแบบจำลองที่อ้างถึงแต่หน่วยเงินตรา แต่ไม่ได้รวมเอากิจกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ไม่ได้คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรบุคคลและทรัพยากรธรรมชาติ ไม่สามารถอธิบายได้ถึงความแตกต่างระหว่างชนชั้น ไม่ว่าใครจะมีเงินมากเงินน้อยก็เอามากองรวมกันไว้เป็นเงิน “ประเทศ” ทั้งหมด รวมทั้งไม่ได้บอกถึงคุณภาพชีวิตของคนและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ

กษัตริย์จิกมี ซิงเย วังชุก พระราชบิดาของกษัตริย์ภูฏานองค์ปัจจุบันเป็นคนที่เสนอแนวความคิดในการพัฒนาประเทศโดยอ้างอิงกับ “ความสุข” ของประชากร ไม่ใช่ความร่ำรวย โดยตั้งอยู่บนหลักการทั้งสี่ ได้แก่ การพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน การอนุรักษ์และส่งเสริมคุณค่าทางวัฒนธรรม การรักษาสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ และธรรมาภิบาล

ความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness – GNH) ถูกคิดค้นขึ้นโดยมีสูตรการคำนวณ

GNH index = 1 – (a1+a2+…..+a72)/72

เมื่อ a1, a2,… a72 คือค่าความสุขในเรื่องต่างๆ มีค่าตั้งแต่ 0 ถึง 1 เพราะฉะนั้นดัชนี GNH นี้คำนึงถึงความสุขในด้านต่างๆ ถึงเจ็ดสิบสองเรื่อง และสูตรนี้ก็มีการพัฒนาต่อเนื่องทุกครั้งที่มีการประชุมนานาชาติของกลุ่มประเทศที่ใช้ GNH เป็นดัชนีชี้วัด โดยครั้งล่าสุดมีการประชุมที่วัดหินหมากเป้ง จังหวัดหนองคาย เมื่อปี 2550 เสียดายที่กลุ่มประเทศที่ยอมรับ GNH มาใช้เป็นกลุ่มประเทศเล็กๆ ในเอเชีย ไม่กี่ประเทศเท่านั้น

จุดอ่อนอย่างนึงของ GNH ที่ถูกยกขึ้นมาเป็นข้อโต้แย้งบ่อยๆ ก็คือเป็นวิธีการให้คะแนนในด้านต่างๆ จากความรู้สึก ไม่มีกฎเกณฑ์ที่แน่นอน ปริมาณความสุขจึงขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน

ทางฝั่งยุโรปและอเมริกาก็จะมีแนวคิดคล้ายๆ กันในการหาสิ่งทดแทนจีดีพี ซึ่งตัวชี้วัดใหม่เหล่านี้ให้ความสำคัญกับความมั่งคั่งน้อยลง แต่คำนึงถึงคุณภาพการดำรงอยู่ของคนและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพียงแต่มีวิธีวัดแตกต่างกันออกไป อย่างเช่น Human Development Index, Satisfaction with Life Index, Genuine Progress Indicator หรือ Happy Planet Index ที่นำเอาต้นทุนที่โลกต้องจ่ายมาคำนวณเป็นส่วนหนึ่งของการวัดประสิทธิภาพ

แต่ละประเทศ แต่ละสถาบันเริ่มออกเดินหาคำตอบกับโจทย์ข้อนี้ในทิศทางที่แตกต่างกัน หรือเป็นเพราะเราออกเดินจากจุดเริ่มต้นที่ไม่เหมือนกัน

แต่ทั้งโลกก็เริ่มดูเหมือนจะแยกย้ายกันออกตามหาสิ่งเดียวกัน

Read Full Post »

บริเวณชายแดนมณฑลยูนนานกับเสฉวน  เป็นที่ตั้งของชนเผ่า ‘โม๋ซอ’  (Moso/Mosuo) ซึ่งมีแนวคิดเรื่องครอบครัวต่างจากคนส่วนใหญ่ในโลก  เพราะคำว่า ‘ครอบครัว’ ของเขาจะมีเพียง ยาย แม่ และลูก … ไม่มีคำว่าพ่อ และ ผัว !!!

A Mosuo woman near Lugu Lake.

A Mosuo woman near Lugu Lake.

วัฒนธรรมของชนเผ่านี้คือผู้หญิงเป็นใหญ่ (มาตุธิปไตย -Matriarchy) ผ้หญิงเป็นผู้สืบทอดอำนาจจากแม่ไปสู่ลูกสาว  เมื่อลูกสาวเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ( อายุ ๑๒ ปี) เธอจะแยกไปมีห้องส่วนตัว  เป็นสัญญาณบ่งบิกว่าเธอเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์แล้ว  ในแต่ละคืนจะมีหนุ่มเข้ามาขอร่วมหลับนอน  คนอื่นๆในบ้านก็เพียงได้ยินเสียงฝีเท้าคนที่เข้ามาในห้อง  แต่ไม่เห็นหน้าว่าเป็นใคร  แล้วผู้ชายก็ต้องออกจากบ้านไปก่อนพระอาทิตย์ขึ้น   ประเพณีอย่างนี้ ฝรั่งเรียกว่า ‘Walking Marriage’ หรือ  ‘Friend Marriage’

เมื่อเวลาผ่านไปหญิงสาวตั้งครรภ์  ก็ไม่มีใครสนใจถามไถ่ว่าใครเป็นพ่อของเด็กในท้อง  เมื่อลูกคลอดออกมาก็มีแต่แม่และยาย  ผู้ชายที่เหลือก็มีตำแหน่งเพียงลุงหรือน้าชายเท่านั้น  เด็กที่เกิดมาก็ไม่เคยรับรู้ว่าใครคือพ่อ  แต่ถึงแม้จะรู้ว่าเป็นใครก็ไม่ได้ผูกพันในฐานะพ่อกับลูก

ผู้หญิงสามารถมีเซ็กซ์กับผู้ชายกี่คนก็ได้  เช่นเดียวกันกับผู้ชาย  แต่ละคืนก็อาจเปลี่ยนคู่นอนไปเรื่อยๆ   มีแค่ความผูกพัน  แต่ไม่ถึงขั้นผูกมัด… ถ้าถูกใจกันก็คบกันได้นาน  เบื่อแล้วก็เลิกกันไป  คบกับคนใหม่ได้เรื่อยๆ

ในยุคของการปฏิวัติทางวัฒนธรรมของประเทศจีน  ผู้มีอำนาจทางการเมืองพยายามยัดเยียด ‘การแต่งงาน’  ให้หนุ่มสาวอยู่กินกันฉันสามีภรรยา  แต่เมื่อผู้นำหมดอำนาจ  ชนเผ่าโม๋ซอ ก็กลับมาดำเนินชีวิตตามวัฒนธรรมดั้งเดิมที่สืบเนื่องกันมาหลายพันปี

แม้บางคนจะมองว่ารูปแบบการปฏิบัติทางเพศเช่นนี้ไม่แตกต่างจากการสืบพันธุ์ของสัตว์  แต่บางคนก็อาจมองว่าเป็นวิถีทางเพศที่สอดคล้องกับธรรมชาติอย่างยิ่ง

ที่สำคัญคือ ธรรมเนียมนี้ไม่ก่อให้เกิดปัญหาอย่างที่สังคมทั้งหลายมีกัน เช่น

เพศสัมพันธุ์ก่อนวัยอันควร ( เพราะเขาถือว่าพ้นอายุ ๑๒ ก็ถึงวัยอันควรแล้ว)

เพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน ( เพราะไม่มีการแต่งงาน )

ตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์  รักสามเส้า  การหึงหวง ( ไม่มีการถือครองเป็นเจ้าของ  แบบตัวกูของกู  ตัวมึงก็ของกู )

การคลุมถุงชน ชิงรักหักสวาท  การนอกใจคู่สมรส  การหย่าร้าง  ท้องนอกสมรส  ลูกไม่มีพ่อ  คบชู้หรือนอกใจ  เมียหลวงเมียน้อย ฯลฯ  แน่นอนว่าไม่มีการควานหาพ่อที่จากแม่ไปนาน

เป็นไปได้หรือไม่ืที่พิธีกรรม ‘การแต่งงาน’ หรือ  ‘จดทะเบียนสมรส’ เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเพื่อปลูกฝังวัฒนธรรมอันดีงามของมนุษย์  แต่มันเหมือนยาที่รักษาโรคบางชนิด  แต่ก็มีฤทธิ์ข้างเคียงหลายอย่าง

…………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………..

คัดลอก และ ย่อความ จากคอลัมน์  in love.sex lesson ของ น.พ. สุกมล วิภาวีพลกุล (จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านครอบครัวและสุขภาพทางเพศ)  นิตยสาร in magazine no.104 June 25 , 2009

Read Full Post »

อาทิตย์ก่อนอู้ไม่ส่งการบ้าน อาทิตย์นี้เลยขอส่งล่วงหน้าไว้ก่อน
วันก่อนเขียนตอบในเรื่อง เดือนช่วงดวงเด่นฟ้าฯ แล้วกูก็เลยเถิดเข้าไปดูเรื่องผังกลอนของอาจารย์เอก เห็นว่ามีร้อยกรองอีกหนึ่งประเภทที่ยังไม่มีใครพูดถึง เลยขอต่อเติมให้ครบซะหน่อย

ฉันท์เป็นร้อยกรองที่ได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย มีลักษณะพิเศษคือนอกจากจะบังคับสัมผัสแล้วยังมีบังคับคำครุ-ลหุด้วย ทำให้เวลาอ่านจะฟังเหมือนจังหวะดนตรี มีหนักมีเบา น่าเอาไปทำฮิพฮอพ

กูลองแต่งสั้นๆ ก่อนสี่บท ที่เลือกอินทรวิเชียรฉันท์ 11 เพราะเห็นเขาว่ามันค่อนข้างง่าย เป็นฉันท์ฟอร์บิกินเนอร์



    ค่ำคืนฤดูร้อน จิต-ซ่อนนิวรณ์ข่ม
    จิบหนึ่งละอารมณ์ จะผลิบาน ณ คืนเพ็ญ
    พร่างฟองละอองกลิ่น ปะทะลิ้นกระซ่านเซ็น
    เลื่อมพรายละลายเร้น อมฤตประโลมใจ
    ทุกข์ร้อนบ่ข้องเกี่ยว ขณะเดียวก็เปลี่ยวดาย
    เพ้อเพรียกสิเรียกใคร ก็มิแว่วสหายกู
    ก่อนเพียรแวะเวียนหา ผิผละลากระไรอยู่
    มาเยือนนะเพื่อนรู้ สละโศกมิจาบัลย์

อินทรวิเชียรฉันท์ 11 บังคับสัมผัสนอกเหมือนกาพย์ยานี 11 ส่วนบังคับครุลหุ เป็นอย่างนี้

ครุ ครุ ลหุ ครุ ครุ           ลหุ ลหุ ครุ ลหุ ครุ ครุ
ครุ ครุ ลหุ ครุ ครุ           ลหุ ลหุ ครุ ลหุ ครุ ครุ

เวลาอ่าน มันจะได้อารมณ์ โท่นๆ ป๊ะ โท่นๆ มันดี แต่แต่งยาก ship สันนิษฐานว่าคำในภาษาอินเดียน่าจะมีคำลหุเยอะ แต่พอมาเป็นภาษาไทยคำลหุมีน้อย เวลาจะแต่งซักบทกูต้องมานั่งทำรายการคำลหุแล้วค่อยเลือกเอามาใช้ แต่จนแล้วจนรอดมันก็หาได้ไม่ครบต้องมีตัวยกเว้นให้อ่านแปลกๆ อย่างวรรคที่สองของบทแรก คำว่า จิต อ่านว่า จิ-ตะ วรรคที่สี่ของบทสอง คำว่า อมฤต อ่านว่า อะ-มะ-ริด ให้มันลงคำดับเบิ้ลลหุตามบังคับ เห็นฉันท์ส่วนใหญ่ที่แต่งกันก็ใช้วิธีเลี่ยงแบบนี้ (กูเลยเอาด้วย) หรือบางทีก็ใช้วิธีฉีกคำจากวรรคหน้าไปฝากไว้วรรคหลัง เช่น แลหลังละลามโล- หิตโอ้เลอะหลั่งไปฯ (สามัคคีเภทคำฉันท์)

ฉันท์อื่นๆ ที่เห็นบ่อยคือ ภุชงคประยาตฉันท์ 12 กับวสันตดิลกฉันท์ 14 (ปางเมื่อพระองค์ปรมพุท ธ-วิสุทธศาสดา ตรัสรู้อนุตรสมา- ธิ ณ โพธิบัลลังก์ฯ) แต่จริงๆ ยังมีฉันท์อีกหลายสิบแบบ กูว่าเป็นร้อยกรองที่มีความหลากหลายที่สุด ชื่อเรียกฉันท์แต่ละแบบก็มีที่มาน่าสนใจดี ว่างๆ ไปดูรายละเอียดต่อเอาเองที่เว็บข้างล่างนี่

http://thaiarc.tu.ac.th/poetry/chan/index.html

Read Full Post »

จินตนาการการใช้เสียงของวิชาดูหลำส่วนหนึ่งในนวนิยาย “บุหงาปารี” แปลงมาจากหลัก  มนตรา ของวิชาโยคะสายกุณฑาลินี

มนตรา (Mantra) คือการพุ่งออกของจิตใจผ่านการใช้เสียง (มน+ตรัง  มนคือจิตใจ  ตรังคือคลื่นที่พุ่งออก)  เป็นหัวใจของโยคะ  เนื่องจากเชื่อว่าเสียงมีพลังที่ส่งผลต่อจักระในร่างกาย

ตามหลักการของมนตรา  เพดานปากของคนเรามีจุดเมอริเดียน (จุดเส้นพลัง) 84 จุด  อยู่ที่เพดานด้านหลังฟันและไรฟัน 64 แห่ง  โดยฟันแต่ละซี่มีจุดเส้นพลังอยู่ 4 จุด  ส่วนอีก 20 จุดที่เหลือ  อยู่ที่เพดานปากส่วนกลาง  จุดเหล่านี้ควบคุมระบบต่างๆของร่างกาย

กุณฑาลินีโยคะอธิบายว่า  จุดเมอริเดียนสัมพันธ์กับส่วนที่เรียกว่า  ไฮโปทาลามัส  ในสมอง  ไฮโปทาลามัสควบคุมความรู้สึกหิว  กระหายน้ำ  อุณหภูมิของร่างกาย  อารมณ์  ความรู้สึกทางเพศ  ฯลฯ  การกระตุ้นจุดเมอริเดียนโดยผ่านการท่องมนตรา (หรือการใช้เสียง)  จะช่วยกระตุ้นไฮโปทาลามัสให้ส่งคำสั่งส่งสารเคมีไปยังส่วนสำคัญของร่างกาย  เพื่อให้ทำงานดีขึ้น  อารมณ์ดีขึ้น  และแข็งแรงขึ้น

การทำงานของมนตราอิงหลักที่ว่า  เสียงมีผลต่อการทำงานของสมองส่วนต่างๆ และการไหลเวียนของปราณ (พลังชีวิต) ในร่างกาย

……………………………………………………………………………………………………………………………

คัดลอกจาก  ภาคผนวก  นวนิยาย “บุหงาปารี” โดย วินทร์  เลียววาริณ (นวนิยายที่สร้างเป็นภาพยนตร์  ปืนใหญ่จอมสลัด)

ป.ล. ปารี แปลว่า ปลากระเบน โดยนัยว่า  เป็นตัวแทน ความดีและชั่วหรือด้านมืดกับด้านสว่างที่ถูกมัดรวมอยู่ด้วยกัน  ่  เช่นปลากระเบนที่มีด้านบนเป็นสีดำ ด้านล่างเป็นสีขาว  จึงมีตัวละครเกี่ยวพันกับปลากระเบนอยู่  ไม่ว่าจะเป็นตัวปารี(พระเอก) เอง  ที่ได้รับการช่วยเหลือจาก อาจารย์กระเบนขาว โดยการส่งปลากระเบนไปช่วย  และกระเบนดำ ด้านมืดของอาจารย์กระเบนขาว   แม้แต่ตัวปารีเองก็ต้องต่อสู้กับฝ่ายมืดในจิตใจตนเอง

Read Full Post »

ซูลิ โบราณจารย์ของจีนบันทึกไว้ว่า ในพระราชวังของพระมหากษัตริย์จีนนั้นมีข้าราชบริพารร่วม 4000 คน ประมาณ60เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 2271 คน เป็นเจ้าหน้าที่ห้องเครื่อง ว่ากันว่าบริเวณสำนักเครื่องต้นน่าจะใช้เนื้อที่ราว 30 ไร่

พวกแรกเป็นนักโภชนาการที่มีความรู้เรื่องคุณสมบัติและประโยชน์ต่างๆของอาหารแต่ละชนิด และเครื่องดื่มต่างๆที่ผลิตทั่วไปในแผ่นดินจีน ซึ่งมีจำนวน 162 คน เหล่านี้จะสลับเวรกัน คิดรายการอาหารเพื่อจัดถวายพระเจ้าแผ่นดิน พระราชินี และพระราชวงศ์ แบ่งเป็นกลุ่มเชี่ยวชาญพระยาหารมื้อเช้า กลุ่มเชี่ยวชาญพระยาหารกลางวัน กลุ่มเชี่ยวชาญพระยาหารเย็น และกลุ่มที่สี่ชำนาญอาหารว่างและเครื่องขบเคี้ยวคาวหวาน ทั้งสี่กลุ่มจะผลัดเวรกันสร้างรายการพระยาหารซึ่งห้องเครื่องต้นจะปรุงถวายให้อธิบดีตรวจความเหมาะสม มิให้ต้องเสวยซ้ำซาก

กลุ่มต่อไป เชี่ยวชาญเรื่องเนื้อสัตว์ต่าง เช่น เนื้อวัว เนื้อความ เนื่อเลีบงผา และสัตว์ที่ต้องล่าจากป่าอื่นๆ

อีก 62 คน เชี่ยวชาญเรื่องสัตว์ปีกทั้งหลายตั้งแต่ เป็ด ไก่ ไก่ฟ้าพญาลอ นกกระเรียน

ผู้เชี่ยวชาญเรื่องปลา 342 คน พวกนี้จะรู้ตั้งแต่วิธีเพาะพันธุ์ วิธีเลี้ยง คุณสมบัติจ่างทั้งปลาทะเลและปลาน้ำจืด รวมทั้งพวกสัตว์มีกระดองทุกอย่าง ตั้งแต่ เต่า ตะพาบ ไปจนถึงกุ้ง หอย ปู

28 คนเป็นนักตากเนื้อและรักษาคุณภาพเนื้อต่างๆ

ผู้ชำนาญเรื่องข้าวต่างๆ ข้าวอย่างไหน แป้งจำพวกไหนกินกับอาหารอะไร จะต้องจัดให้เข้าชุดกัน รวมกับผู้ชำนาญผักผลไม้ เบ็ดเสร็จมีอยู่ 335 คน

ชุดต่อมาอีก 110 คน ดูแลชุดเครื่องพระสุธารส ซึ่งก็คือเรื่องสุราต่างๆ ที่คัดเลือกเอาอย่างยอดจากมณฑลใกล้ไกลมาทดสอบคุณภาพความหอม ความฉุน ความแรง และคุณสมบัติในการกระตุ้นอวัยวะภายในส่วนต่างๆ ทั้ง ชาคอ ชาหอม และชาล้างไขมัน

พ่อครัวระดับ เถ้าชิ้ว(มือหนึ่ง) ยี่ชิ้ว(มือสอง) และผู้อบู่หน้าเตาไฟยังแบ่งออกไปอีก

ชุดทำครัวถวายพระเจ้าแผ่นดิน พระราชินี และพระราชวงศ์ 128 คน

ชุดทำครัวผู้เข้าเฝ้ารับพระราชทานเลี้ยง 128 คน

ชุดบริการเสิร์ฟอาหาร ชุดบริการสุรา 340 คน

ผู้ชำนาญเครื่องดื่ม 6 ชนิด 170 คน (ไม่มีข้อมูลระบูว่าคือเครื่องดื่มอะไร)

ผู้ดูแลน้ำแข็ง ซึ่งลำเลียงมาจากภูเขาน้ำแข็งแล้วเก็บให้มีกินตลอดปี 94 คน

ผู้บริการด้วยถาดไม้ไผ่ 31 คน

ผู้บริการจานร้อนของเนื้อต่างๆ 61 คน

ผู้ชำนาญของดองและเครื่องจิ้มต่างๆ 62 คน

เจ้าหน้าที่ห้องเก็บเกลือและน้ำตาล 62 คน

ข้อมูลจาก “ข้างครัวตะวันออก” โดย พิชัย วาศนาส่ง

Read Full Post »

A krater (in Greek: κρατήρ, kratēr, from the verb κεράννυμι, keránnymi, meaning “I mix”) was a vase used to mix wine and water. At a Greek symposium, kraters were placed in the center of the room. They were quite large, so they were not easily portable when filled. Thus, the wine-water mixture would be withdrawn from the krater with other vessels. (from Wikipedia)

บทละครของยูบูลอสกล่าวว่า “สำหรับบุรุษผู้อารมณ์สุนทรีย์ ข้าจะเตรียมไวน์ไว้ 3 เครเตอร์ เครเตอร์แรกเพื่อสุขภาพซึ่งพวกเขาจะดื่มโดยรวดเร็ว เครเตอร์ที่สองเพื่อความรักและความสำราญ เครเตอร์ที่สามเพื่อให้นอนหลับสบาย หลังจากไวน์ในเครเตอร์ที่สามหมดลง ชายผู้ทรงปัญญาก็จะลากลับ ไวน์เครเตอร์ที่สี่นั้นไม่ใช่ของข้าอีกแล้ว มันเป็นของพฤติกรรมอันเลวร้าย เครเตอร์ที่ห้าหมายถึงเสียงโวยวาย เครเตอร์ที่หกสำหรับความหยาบช้าและการดูหมิ่น เครเตอร์ที่เจ็ดจะนำไปสู่การวิวาท เครเตอร์ที่แปดสำหรับการทำลายข้าวของ เครเตอร์ที่เก้าสำหรับความซึมเศร้า เครเตอร์ที่สิบคือการบ้าคลั่งไร้สติ”

Read Full Post »